เป็นบทความเรื่องแรกของครูกัญญา
เนื่องจากได้รับการคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ให้เป็นครูพี่เลี้ยงวิชาการตามโครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 จึงมีโอกาสได้เข้ารับการประชุมปฏิบัติการอบรมครูแกนนำวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ วันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2552 ณโรงแรมแอมบาสเดอร์ เห็นว่าความรู้ ที่ได้รับจากการอบรมมีประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาผู้เรียน จึงได้นำบางส่วนของการได้รับการอบรมมาถ่ายทอดเพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครู
กัญญา ชัยรัตน์
กลวิธีการสอน
( Teaching Strategies )
ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แม้ว่าจะมีวิธีการและกิจกรรมที่หลากหลายและเลือกใช้วิธีสอนที่เหมาะกับเนื้อหาตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแล้ว ครูจำเป็นต้องมีกลวิธี
( เทคนิค + วิธีการ ) ต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นความคิด การตั้งคำถาม และส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างจริงจังและทั่วถึง รวมทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ให้นักเรียนเกิดความตื่นเต้น กระตือรือร้น และไม่น่าเบื่อหน่ายอีกด้วย
นักการศึกษาทั่วไปและนักการศึกษาวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยคิดค้นกลวิธีการสอนไว้มากมาย เพื่อให้ครูนำไปใช้ประกอบในกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้การทำกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น อย่างไรก็ตามการจะเลือกกลวิธีใดมาใช้กับกิจกรรมการเรียนรู้ใดหรือขั้นตอนใดของกิจกรรมนั้น ต้องพิจารณาให้เหมาะสม ซึ่งในการออกแบบจัดกระบวนการเรียนรู้ที่จะสอดแทรกกลวิธีต่าง ๆ นั้นจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้หรือไม่ ควรต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
§ กลวิธีอะไรที่จะทำให้การสังเกตมีความหมายและเกิดการเรียนรู้
§ กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียน ตั้งคำถามได้อย่างหลากหลายและได้จำนวนมาก
§ กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลได้ตรงตามวัตถุประสงค์และกว้างขวาง
§ กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนอย่างเท่าเทียมกัน
§ กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียนสามารถออกแบบวิธีการสำรวจตรวจสอบด้วยตนเอง
§ กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียนสนใจความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับชีวิต
การใช้กลวิธีที่หลากหลายในการจัดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม มีประโยชน์ต่อผู้เรียน
ดังนี้
1. ใช้กระบวนการคิดมากขึ้นรวมทั้งได้ฝึกกระบวนการคิดระดับสูง
2. เข้าใจสาระ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
3. มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
4. ได้งานที่มีคุณภาพมากขึ้น
5. เรียนอย่างสนุกสนาน เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษา ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม
กลวิธีการสอนที่เหมาะกับวิทยาศาสตร์บางกลวิธีสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน ดังต่อไปนี้
1. การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ ( Cooperative Learning )
2. คิดเดี่ยว : คิดคู่ : แลกเปลี่ยนความคิด ( Think Pair Share )
3. จิ๊กซอว์ ( Jigsaw )
4. สร้างผลสัมฤทธิ์ของทีม ( Student Teams Achievement Division : STAD )
5. วงแหวนชาวประมง ( Fisherman’s ring )
6. การจัดระบบความคิดโดยใช้แผนผัง ( Graphic Organizer )
7. เดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ( Gallery Walk )
8. ม้าหมุน ( Carousel )
9. ทำนาย : สังเกต : อธิบาย ( Predict Observe Explain : P O E )
10. รู้แล้ว : อยากรู้ : เรียนรู้ ( Knowledge Want to know Learning : K W L )
11. ตั๋วออก ( Exit ticket )
12. การระดมความคิด ( Brainstorming )
13. การอ่านและการเขียนอย่างมีศักยภาพ ( Active reading & Wrtiting )
14. บทบาทสมมติ ( Role play )
15. สถานการณ์จำลอง ( Simulation )
16. เกม ( game )
ขอนำเสนอตัวอย่างกลวิธีการสอนที่นำไปใช้สอนดังต่อไปนี้
กลวิธี คิดเดี่ยว : คิดคู่ : แลกเปลี่ยนความคิด
( Think – Pair – Share )
แนวคิด
กลวิธี คิดเดี่ยว : คิดคู่ : แลกเปลี่ยนความคิดเป็นกลวิธีหนึ่งของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ ( Cooperation Learning ) มีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด โดยให้นักเรียนฝึกกระบวนการคิดด้วยตนเอง แล้วแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนเป็นคู่ แบ่งปันในกลุ่มของตัว และนำมาแบ่งปันให้เกิดการเรียนรู้ในกลุ่มใหญ่ โดยเริ่มจากให้นักเรียนคิดเป็นรายบุคคล แล้วนักเรียนจับคู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน ต่อไปอาจขยายขนาดกลุ่มโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มขึ้นทีละคู่ ตอนสุดท้ายจะต้องให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นร่วมกันทั้งห้องเรียน กลวิธีนี้ใช้เมื่อต้องการให้นักเรียนฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกทักษะการสื่อสารการแสดงออกและการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
วิธีการ
กลวิธี Think – Pair – Share ควรใช้ตอนเริ่มต้นบทเรียนเพื่อดึงความรู้เดิมของนักเรียนใช้ หลังจากนักเรียนได้ข้อมูลจากการสำรวจตรวจสอบแล้ว ตอนวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอข้อมูล และใช้ในตอนสรุปบทเรียน มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้
1. ให้นักเรียนแต่ละคนคิดในประเด็นที่ครูกำหนดให้ บันทึกไว้
2. ให้นักเรียนจับคู่กับเพื่อนช่วยกันคิด บันทึกไว้
3. ให้นักเรียน 2 คู่ ( 4 คน ) รวมเป็นกลุ่ม ร่วมกันคิด แบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม
4. ร่วมกัน อภิปราย สรุปความคิดเห็นของทั้งชั้นเรียน
กลวิธี ม้าหมุน ( Carousel )
แนวคิด
กลวิธีม้าหมุนหรือ Carousel เป็นกลวิธีที่กระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นหรือหัวข้อที่นักเรียนแต่ละกลุ่มได้รับไป เขียนบนกระดาษติดไว้บันผนังห้อง แล้วให้นักเรียนกลุ่มอื่น ๆ เวียนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจากนั้นเจ้าของกลุ่มกลับไปพิจารณาความคิดของกลุ่มและที่เพื่อนมาเพิ่มเติมเพื่ออภิปราย สรุปความคิดเห็นของกลุ่ม และนำเสนอต่อชั้นเรียน และครูนำอภิปรายเพิ่มเติมเหมาะสำหรับการฝึกทักษะการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล การแสดงออกและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
วิธีการ
1. ครูกำหนดประเด็นคำถามที่แตกต่างกันเท่ากับจำนวนกลุ่มนักเรียน นำไปติดบอร์ดหรือฝาผนังให้ระยะห่างกันพอสมควร
2. แจกปากกาสีต่างกันให้แต่ละกลุ่ม
3. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มยืนที่ประเด็นคำถามแรกและระดมความคิดเขียนลงบนกระดาษนั้น
4. เมื่อครูให้สัญญาณ ทุกกลุ่มเดินทิศทางตามเข็มนาฬิกาไปยังประเด็นถัดไป แล้วอ่านศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ อภิปรายผลงานของกลุ่มอื่นที่เขียนไว้ และทำเครื่องหมายถูกในหัวข้อแนวความคิดที่กลุ่มเห็นด้วย รวมทั้งเพิ่มเติมข้อคิดเห็นและประเด็นต่าง ๆ จนครบทุกกลุ่ม
5. ตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลการระดมความคิดประเด็นสุดท้ายที่กลุ่มศึกษา
6. ทุกคนร่วมอภิปรายและสรุปแต่ละประเด็นโดยครูเป็นผู้นำการอภิปรายและใช้คำถามให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และสรุปผลการอภิปรายของทั้งห้อง
กลวิธี วงแหวนชาวประมง ( Fisherman’s Ring )
แนวคิด
กลวิธีวงแหวนชาวประมงเป็นกลวิธีฝึกให้นักเรียนพูดสื่อสารและแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ในประเด็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสังคม โดยผลัดเปลี่ยนกันในวงเพื่อพูดข้อดีและข้อเสียของประเด็นนั้น
วิธีการ
ครูเลือกประเด็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน ให้ข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสีย หรืออาจกำหนดประเด็นให้นักเรียนสืบค้นข้อมูล ให้นักเรียนศึกษาข้อมูล และใช้กิจกรรมวงแหวนชาวประมงเป็นสื่อในการทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ฝึกกระบวนการคิดและสื่อสารความรู้ไปยังผู้อื่น มีขั้นตอนดำเนินการดังนี้
1. กำหนดประเด็นที่จะศึกษา ควรเป็นประเด็นวิทยาศาสตร์ที่มีความขัดแย้งกันในสังคมขณะนั้น และกำลังอยู่ในความสนใจของนักเรียนหรือประชาชน
2. เตรียมใบกิจกรรม ซึ่งควรประกอบด้วยหัวเรื่องต่อไปนี้
§ ชื่อเรื่อง
§ จุดประสงค์
§ วิธีดำเนินกิจกรรม
§ ใบความรู้ ซึ่งเน้นมุมมองทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านดีและด้านเสีย
3. เตรียมวิธีการประเมินผล
4. เตรียมสถานที่จัดกิจกรรม โดยจัดหาสถานที่ที่เป็นห้องโล่งหรือลานกว้างพอสำหรับจัด
นักเรียนยืนเป็นวงกลม 2 วง และเคลื่อนไหวได้สะดวก
5. เริ่มทำกิจกรรมโดยแจกใบกิจกรรมให้นักเรียนทุกคนศึกษา
6. จัดกิจกรรมวงแหวนชาวประมงเพื่อให้นักเรียนสะท้อนข้อดีและข้อเสียของประเด็นที่ศึกษา โดยดำเนินการดังนี้
6.1 ครูชี้แจงขั้นตอนการทำกิจกรรม
6.2 ครูให้นักเรียนยืนเป็น 2 วง ให้เท่ากัน วงละไม่ควรเกิน 10 คน และแต่ละคู่หันหน้าเข้าหากัน ครูส่งสัญญาณให้นักเรียนผลัดเปลี่ยนคู่กันสะท้อนข้อดีและข้อเสีย โดยการเปลี่ยนคู่อาจให้นักเรียนเดินสวนทางกันไปหาคู่ใหม่
7. ร่วมกันอภิปรายทั้งชั้นเพื่อสรุปเป็นความคิดของห้อง
กลวิธี ทำนาย : สังเกต : อธิบาย ( Predict Observe Explain : P O E )
แนวคิด
กลวิธี ทำนาย : สังเกต : อธิบาย หรือ POE มาจากคำเต็ม Predict Observe Explain เป็นกลวิธีที่ให้นักเรียนเรียนรู้จากการทำนาย ( Predict ) การสังเกต ( Observe ) และการอธิบาย ( Explain ) ใช้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ มุ่งมั่นในการทดลองโดยให้นักเรียนทำนายผลที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนลงมือทำกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนสังเกตอย่างจดจ่อ ละเอียด รอบคอบ นำผลที่ได้จากการสังเกตมาอธิบายและเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำนายไว้ นักเรียนจะรู้สึกสนุกสนานและในช่วงที่ทำกิจกรรมหรือทำการทดลองแล้วท้าทายในการค้นหาความรู้เพื่อตรวจสอบผลการทำนายของตนเอง
วิธีการ
มี 3 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นทำนาย ( Predict ) ครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม / คนทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสาธิตการทดลองหรือปัญหาที่กำหนด
2. ขั้นสังเกต ( Observe ) ครูให้นักเรียนทำการทดลอง สังเกต บันทึกผล เพื่อศึกษาว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และเป็นไปตามที่ทำนายไว้หรือไม่
3. ขั้นอธิบาย ( Explain ) ให้นักเรียนอธิบายผลที่เกิดจริง ซึ่งผลเกิดขึ้นจริงอาจตรงกับที่ทำนายไว้ทั้งหมด หรือบางส่วน ครูให้นักเรียนวิเคราะห์หาสาเหตุ และสรุป
กลวิธี รู้แล้ว :อยากรู้ : เรียนรู้ ( Knowledge Want to know Learning : KWL )
แนวคิด
กลวิธี รู้แล้ว :อยากรู้ : เรียนรู้ หรือ K W L เป็นกลวิธีการเรียนรู้สิ่งใหม่จากการเชื่อมโยงจากสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้แล้ว หรือพื้นความรู้เดิมกับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และให้นักเรียนอธิบายความรู้ใหม่ หรือ สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้แต่ละตัวอักษรของ K W L มาจากความหมายดังนี้
K: What we know
W: What we want to know
L: What we learned
กลวิธี K W L ใช้เพื่อดึงความรู้เดิมของนักเรียนและสิ่งที่นักเรียนอยากรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียน จะทำให้รู้ว่านักเรียนรู้อะไรมาบ้างและมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอะไรบ้าง และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สนองความต้องการของนักเรียนมากที่สุด ทั้งนี้เรื่องที่นักเรียนอยากรู้อาจจะจัดให้ไม่ได้ทันทีแต่อาจจัดการเรียนรู้โดยวิธีอื่นหลังจากนั้น
การนำไปใช้
1. เมื่อเริ่มการเรียนการสอนเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ให้นักเรียนแต่ละคนเขียนในสิ่งที่เรียนรู้แล้วในเรื่องนั้นลงในกระดาษ นำไปติดบริเวณที่กำหนด
2. นักเรียนเขียนสิ่งที่อยากรู้ลงในกระดาษอีกแผ่น ว่ามีอะไรบ้างที่อยากเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่ครูจะสอน แล้วนำไปติดบริเวณที่กำหนด
3. ครูให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้และความต้องการของนักเรียน โดยครูต้องเชื่อมโยงกิจกรรมที่เตรียมไว้กับสิ่งที่นักเรียนอยากรู้มากที่สุด
4. หลังจากจบบทเรียน ให้ทุกคนเขียนว่าได้เรียนรู้อะไรลงในกระดาษและตรวจสอบกับความรู้เดิมว่านักเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น รู้อะไรคลาดเคลื่อน มีอะไรที่ครูยังไม่จัดให้
5. ครูให้นักเรียนทำกิจกรรมเพิ่มเติมในประเด็นที่นักเรียนยังไม่ได้เรียนรู้ เช่น สืบค้นข้อมูล ทำโครงงานวิทยาศาสตร์
กลวิธี การจัดระบบความคิดโดยใช้แผนผัง ( Graphic Organizer )
แนวคิด
กลวิธีการจัดระบบความคิดโดยใช้แผนผังหรือ Graphic Organizer ใช้เพื่อประเมินความเข้าใจ ความถูกต้องของเนื้อหาสาระจากการเรียนรู้ ช่วยฝึกและเพื่อพัฒนากระบวนการคิด
มีหลากหลายรูปแบบ เช่น แผนผังความคิดหลัก ( Concept map ) แผนผังเวนน์ ( Vann diagram ) แผนผังก้างปลา ( fish bone ) และแผนผังความคิด ( Mind map ) เป็นต้น แต่ละรูปแบบของการจัดระบบความคิดจะมีลักษณะเฉพาะ ดังตัวอย่าง เช่น
แผนผังความคิดหลัก ( Concept Map )
กลวิธี แผนผังความคิดหลัก หรือ Concept Map เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบความคิดหลักของนักเรียนก่อนเรียนหรือประเมินนักเรียนที่หลังจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว นักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง เข้าใจเนื้อหาถูกต้องหรือไม่ เป็นแผนภาพที่เขียนแสดงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดหลักหรือมโนทัศน์ ( Concept ) ต่าง ๆ โดยใช้คำเชื่อมอย่างมีลำดับและเป็นระบบเริ่มจากความคิดหลักที่กว้างไป แคบไปหรือเฉพาะเจาะจงทำให้เห็นความสัมพันธ์ต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เข้าใจเนื้อหาดีขึ้น ให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ถูกต้อง และครอบคลุม เป็นการฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์
1. กำหนดเรื่องหรือหัวเรื่องที่จะจัดกิจกรรม
2. ให้นักเรียนทำกิจกรรมก่อนเขียนแผนผังความคิดหลักหรือหลังจากทำกิจกรรม แต่ละ
กลุ่มระดมความคิด และสรุปผลกิจกรรมโดยเขียนแผนผังความคิดหลัก ซึ่งครูควรทบทวนหรืออธิบายวิธีการเขียนแผนผังความคิดหลักก่อนให้นักเรียนเขียน
3. แต่ละกลุ่มนำเสนอแผนผังความคิดหลัก
4. ร่วมกันอภิปราย และสรุปแผนผังความคิดหลัก
แผนผังเวนน์ ( Venn Diagram )
เป็นกลวิธีที่ฝึกการคิดวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบของ 2 สิ่งหรือมากกว่าว่ามีอะไร ที่เหมือนกัน และมีอะไรที่แตกต่างกัน โดยเขียนลงในแผนผังเวนน์ ซึ่งประกอบด้วยวงกลมจำนวนเท่ากับสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบเขียนซ้อนทับกันบางส่วน ส่วนที่ซ้อนทับเขียนแสดงลักษณะที่เหมือนกัน บริเวณนอกเหนือส่วนที่ซ้อนกันอยู่เขียนแสดงลักษณะที่แตกต่างกัน
1. ครูกำหนดเรื่อง / หัวข้อทำกิจกรรมที่สามารถแยกความแตกต่างออกจากกันได้
2. ครูจัดทำใบความรู้หรือใบกิจกรรมหรือแหล่งเรียนรู้ในหัวข้อที่กำหนด เพื่อเป็นข้อมูล
สำหรับการเขียนแผนผังเวนน์
3. นักเรียนแต่ละคนศึกษาหรือสืบค้นข้อมูล
4. นักเรียนวิเคราะห์สิ่งที่เหมือนกันและสิ่งที่แตกต่างกันเขียนลงในแผนผังเวนน์
5. ครูสุ่มนักเรียนนำเสนอแผนผังเวนน์
6. ครูนำอภิปรายทั้งชั้นเรียนเพื่อสรุปแผนผังเวนน์ที่ถูกต้อง
หมายเหตุ : แผนผังเวนน์อาจแสดงแผนภาพด้วยวงกลมมากกว่า 2 วงซ้อนกันหรือวงกลม
เล็กซ้อนอยู่ในวงกลมใหญ่ก็ได้
แผนผังความคิด ( Mind map )
กลวิธี ตั๋วออก(Exit Ticket)
แนวคิด
กลวิธีตั๋วออกหรือ Exit Ticket เป็นกลวิธีที่ให้นักเรียนทำกิจกรรมก่อนออกจากห้องเรียน โดยหลังจากจบบทเรียนแต่ละครั้ง อาจให้นักเรียนทำงาน เช่น แบบฝึก รายงานการทดลอง เขียนอนุทิน เพื่อบอกถึงสิ่งที่เข้าใจ และสิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้ ( Got ) และให้นักเรียนเขียนในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ ( ) ครูจะต้องนำงานของนักเรียนมาวิเคราะห์เพื่อทราบว่านักเรียนเข้าใจสิ่งที่ครูสอนแค่ไหน ยังไม่เข้าใจอะไร และอยากรู้อะไรเพิ่มเติม และให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียนในการเรียนการสอนครั้งต่อไป
วิธีการ
กลวิธีนี้ใช้ตอนท้ายชั่วโมงของการสอนซึ่งจะช่วยประเมินผลการเรียนการสอนของครู และฝึกให้นักเรียนสรุปความรู้ โดย ให้นักเรียนแต่ละคนเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจในบทเรียนวันนี้และเขียนสิ่งที่อยากรู้ลงในกระดาษ มีอะไรบ้างที่อยากเรียน โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้
1. ให้นักเรียนเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้และเข้าใจในบทเรียน ซึ่งอาจเขียนได้ในหลายรูปแบบ เช่น อนุทิน แผนผังความคิด แผนภาพ ความเรียงลงในบัตร หรือ กระดาษสี
2. เขียนสิ่งที่อยากรู้ลงในกระดาษ มีอะไรบ้างที่อยากเรียนลงในบัตร หรือกระดาษสี
3. นำสิ่งที่เขียนไปติดไว้ที่บอร์ด
กลวิธี เกม (Game)
แนวคิด
เกมเป็นกลวีธีที่เหมาะสำหรับเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากทำให้นักเรียนได้รับความสนุกสนานและได้เรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย นอกจากนั้นไม่ว่านักเรียนจะเรียนเก่ง หรือเรียนอ่อนต่างก็ชอบการเล่นเกมด้วยกันทั้งสิ้น จึงช่วยแก้ปัญหาการขาดความเอาใจใส่ในการเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย
เกมที่นำมาประยุกต์ในการเรียนการสอน ควรเป็นเกมที่นักเรียนคุ้นเคย รู้กติกาค่อนข้างดี วิธีการเล่นไม่ซับซ้อน และผลิตง่าย เกมมีหลายประเภท เช่น
1. โดมิโน ( Dominoes)
2. เกมบัตร( Card Game)
3. เกมกระดาน ( Board Game)
4. เกมปริศนาคำ (Puzzles)
5. เกมทายปัญหา (Quizzes)
โดมิโน
เป็นเกมที่เล่นโดยนำชิ้นส่วนสี่เหลี่ยมซึ่งเรียกว่าแผ่นโดมิโนมาต่อเข้าคู่กันตามกติกาที่กำหนดเช่นประเภทของสัตว์ – ชื่อสัตว์ อาณาจักรพืช – ชื่อพืช จำนวนตัวเลขที่บวกกันแล้วเท่ากับสิบเป็นต้น เกมโดมิโนเหมาะสำหรับการจัดจำแนกประเภท ที่เกี่ยวข้องกันไม่เกิน 3 กลุ่ม เช่นประเภทธาตุ – สัญลักษณ์ธาตุ – ชื่อธาตุ เมื่อต่อแผ่นโดมิโนได้ถูกต้อง ผู้เล่นจะได้คะแนนเท่ากับจำนวนจุดที่อยู่บนแผ่นโดมิโน ครูสามารถกำหนดกติกา การคิดคะแนน เช่น ถ้าแผ่นโดมิโนที่ต่อกันถูกต้องและมีจำนวนจุดของคะแนนเท่ากัน ผู้เล่นจะได้คะแนน 2 หรือ 3 เท่า ของผลรวมของจำนวนจุด
เกมบัตร
เป็นเกมที่เล่นโดยใช้บัตร อาจเป็นการจับคู่บัตร หรือจัดบัตรเข้าพวก ตามกติกาที่กำหนด บางเกมอาจใช้กติกาของการเล่นรัมมี่ หรือการเล่น “ผสมสิบ” เกมบัตรเหมาะสำหรับการจัดกลุ่ม จัดประเภทของสิ่งที่แสดงบนบัตร
เกมกระดาน
เป็นเกมที่ผู้เล่นเดินตัวหมากไปตามช่องบนกระดาน จำนวนช่องที่เดินเท่ากับจำนวนเต็มที่ได้จากการทอดลูกเต๋า เช่นเกมบันได้งู เกมเศรษฐี เกมไต่บันได ในช่องที่เดินควรใส่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ผู้ที่เดินไปถึงช่องนั้นอ่านให้เพื่อฟัง หรือใส่สิ่งที่ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติ เช่นให้หยิบบัตรคำถาม ถ้าตอบคำถามได้จึงจะได้เล่นต่อไปเป็นต้น
เกมปริศนาคำ
เป็นเกมที่ทายคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ มีหลายลักษณะเช่นเกมอักษรไขว้( Crossword )
อักษรสลับ ( Anagrams ) เกมค้นหาคำ ( Wordsearches ) เหมาะสำหรับใช้เรียนรู้ หรือทบทวนความหมาย หรือ มโนทัศน์ของคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์
เกมทายปัญหา
เป็นเกมที่ใช้ทายปัญหาทางวิทยาศาสตร์ รูปแบบของเกมมีหลายแบบ อาจใช้รูปแบบของเกมทางทีวีซึ่งเป็นที่นิยม แล้วใช้คำถามที่เกี่ยวข้องเนื้อหาสาระทางวิทยาศาสตร์ เช่นเกม 20คำถาม
เกมเหล่านี้ครูสามารถผลิตเองได้ง่าย โดยใช้วัสดุประเภท กระดาษ ดินสอสี ปากกาสี หรือออกแบบในคอมพิวเตอร์และพิมพ์ออกมาให้มีสีสันสวยงาม ก็จะทำให้เกมมีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจ
แต่ถ้าโรงเรียนมีความพร้อมทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็สามารถใช้เกมคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจผลิตขึ้นเอง หรืออาจจัดซื้อจากที่มีผู้จำหน่ายมาใช้ในการเรียนการสอน
กลวิธี เดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
( Gallery Walk )
แนวคิด
กลวิธีเดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ Gallery Walk เป็นกลวิธีที่ให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานของกลุ่มในการศึกษาเรื่องเดียวกัน ภายหลังจบบทเรียน ให้กลุ่มอื่นมาชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงาน แสดงความคิดเห็น อภิปรายภายในกลุ่ม โดยเขียนเครื่องหมาย / หน้าข้อความที่มีความเห็นเหมือนกัน และเขียนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ถ้าไม่แน่ใจในประเด็นที่เพื่อนนำเสนอให้ใส่เครื่องหมายคำถามไว้ กลวิธีนี้ใช้เมื่อต้องการให้นักเรียนนำเสนอผลงาน โดยทุกคนมีส่วนร่วม กลวิธีนี้ช่วยฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม การตอบคำถาม การสื่อสารและการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
วิธีการ
1. แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 – 4 คน
2. ให้นักเรียนร่วมกันทำกิจกรรม อภิปราย และสรุปความคิดเห็นของกลุ่ม เขียนลงใน
กระดาษโปสเตอร์แล้วนำไปติดไว้ที่ผนัง ระยะห่างกันพอสมควร
3. แจกปากกาสีให้แต่ละกลุ่มอธิบายวิธีการเดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานของกลุ่มอื่น
4. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มยืนตรงโปสเตอร์ของตนเอง
5. ให้สัญญาณให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเดินไปหยุดที่โปสเตอร์ของกลุ่มถัดไป ศึกษาผลงาน
อภิปราย และสรุปความคิดเห็น ถ้าเห็นด้วยในประเด็นใดให้เขียนเครื่องหมาย / หน้าประเด็นนั้น ถ้าไม่เห็นด้วยในประเด็นใดให้เขียนความคิดเห็นของตนเองลงไป ถ้าไม่แน่ใจในประเด็นใดให้เขียนเครื่องหมายคำถาม
6. ให้นักเรียนทำกิจกรรมเช่นเดิมจนครบทุกโปสเตอร์ หรือ 2 – 3 โปสเตอร์ตามเวลาที่มี
7. นำอภิปรายทั้งชั้น โดยครู เพื่อสรุปความคิดเห็นของห้อง
รวมลิงค์บทความเกี่ยวกับเทคนิคการสอน
คุณครูคะ มีหนังสือเกี่ยวกับกลวิธีการสอนไหมคะ ช่วยแนะนำชื่อหนังสือหน่อยค่ะ หนูสนใจเรื่องกลวิธีการสอน ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
ตอบลบขอบคุณค่ะ
ตอบลบอยากสอบเรื่องกลวิธีการสอน พอดีจะนำมาใช้ในการสอนเด็กพอมีหนังสือที่แนะนำไหมค่ะ
ตอบลบ