วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ลิงไทยใช้ไหมขัดฟัน

นักเรียนดูคลิปวิดีโอนี้แล้ววิเคราะห์ว่าพฤติกรรมของลิงเป็นพฤติกรรมใดบ้าง

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อวัยวะรับความรู้สึกการรับรสและการดมกลิ่น

อวัยวะรับความรู้สึกลิ้นกับการรับรส


บทบาทที่สำคัญที่สุดของการลิ้มรสคือการควบคุมคุณภาพของอาหารของเรา ลิ้นเป็นอวัยวะที่ใช้ชิมรส การลิ้มรสมีความสำคัญทำให้คนได้รับประทานอาหารตามที่ต้องการ รสที่ขมมากจนทำให้คนหรือสัตว์คายอาหารทิ้งอาจเป็นสารพิษตามธรรมชาติเช่นสารอัลคาลอยด์ ความอร่อยของอาหารนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่าง รส และกลิ่น
ลิ้นเป็นอวัยวะในช่องปาก ทำหน้าที่ช่วยคลุกเคล้าอาหารและรับความรู้สึกเกี่ยวกับรสชาติของอาหาร ลิ้นจะมีผิวที่ไม่เรียบเสมอกันทั้งลิ้น ด้านบนของผิวลิ้นมีส่วนที่เป็นปุ่มเล็กๆนูนขึ้นมาเล็กน้อยจากพื้นลิ้นปุ่มนูนนี้เรียกว่าพาพิลลา ( papilla ) ในพาพิลลาประกอบด้วย ตุ่มรับรส ( Taste bud )หลายตุ่มทำหน้าที่รับรส ในตุ่มรับรสแต่ละตุ่ม ประกอบด้วยเซลล์รับรสเรียกว่า เซลล์รับรส ( taste cell หรือGustatory cell ) เป็นเซลล์ที่มีรูปร่างยาวปลายด้านบนมีขนเส้นเล็กๆใช้รับความรู้สึก ประมาณ 20 เซลล์โดยมีปลายเดนไดรต์ของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 และ 9 มาสัมผัสอยู่เพื่อนำกระแสประสาทไปแปลผลที่ศูนย์การรับรสในซีรีบรัม ปลาย 2/3 ของลิ้นจะรับรสและถูกส่งไปกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ส่วนโคน 1/3 ของลิ้นจะรับรสและถูกส่งไปกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 ในตุ่มรับรสยังประกอบไปด้วยเซลล์อีกชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเรียกว่า supporting cell ตุ่มรับรสแต่ละตุ่มมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.3 ม.ม.สูง 0.6 ม.ม.ตุ่มรับรสมีรูปร่างหลายแบบ ส่วนใหญ่พบด้านหน้าและด้านข้างของลิ้น เซลล์รับรสจะมีอายุประมาณ 7 วัน การกินอาหารร้อนๆจะทำให้เซลล์รับรสตาย ลิ้นจะชา ไม่รู้รสไปหลายวัน ในคนอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป ตุ่มรับรสจำนวนหนึ่งจะเสื่อมสลายไป ทำให้การรับรสด้อยลงไปเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นตุ่มรับรสส่วนใหญ่พบที่ด้านหน้า และด้านข้างของลิ้น
การรับรสของต่อมรับรสรับได้ 5 รส คือ เปรี้ยว ,เค็ม,หวาน ขมและรสอูมามิ การที่เราสามารถรับรสได้มากกว่า5 รสนั้นเกิดจากส่วนผสมของรสทั้ง 5 รส ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดรสอีกมากมาย ส่วนเผ็ดไม่ใช่รสแต่เป็นการทำให้ระคายเคืองแก่เซลล์ รับรู้ด้วยการสัมผัส เช่นเดียวกับรับสัมผัสแล้วความรู้สึกว่าอาหารนั้นมัน หยาบ หรือละเอียด
ความรู้สึกพื้นฐานในการรับรส
1. รสเปรี้ยว เกิดจากความเป็นกรด
2. รสเค็ม เกิดจากโมเลกุลของเกลือที่มีไอออนบวก
3. รสหวาน เกิดจากสารเคมีบางชนิดที่ทำให้เกิดรสหวาน เช่นน้ำตาลคีโตน และ เอสเทอร์
4. รสขม เกิดจากสารอัลคาลอยด์ เช่นควินิน คาเฟอิน สติกนิน มีตุ่มรับรสมากอยู่ทีโคนลิ้น
5. รสอูมามิ รสอูมามิรสอูมามิเป็นรสที่ ได้จากกลูตาเมท (กรดอะมิโนที่ใช้ในการสังเคราะห์โปรตีน) และไรโบนิวคลีโอไทด์ (สารที่จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก)จะรู้สึกถึงรสนี้ได้เมื่อเคี้ยวเนื้อ สเต็กที่สุกปานกลาง รสอูมามิเป็นรสที่บอกได้ว่าในอาหารมีโปรตีนมากหรือน้อย
ตุ่มรับรส 1 อันอาจมีเซลล์รับรสได้มากว่า 1 รส บางอันรับได้ถึง 5 รส แต่ตุ่มแต่ละอันจะมีความไวในการรับรสเพียง 1 หรือ 2 รสเท่านั้น และสารที่จะรับรสได้ดีต้องละลายในน้ำหรือน้ำลายได้ดี

อวัยวะรับความรู้สึกจมูกกับการดมกลิ่น

จมูกกับการดมกลิ่น

จมูกกับการดมกลิ่น

จมูก เป็นอวัยวะรับความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นในรูปของแก๊ส ( olfactory receptor ) ใน จมูก
มีหน่วยรับความรู้สึกต่อสิ่งเร้าที่เป็นประเภทสารเคมี( Chemoreceptor) เช่นเดียวกับเซลล์รับรสของลิ้น
การรับกลิ่นอาศัยเยื่อรับกลิ่น ( Olfactory epithelium ) ภายในจมูก การรับรสอาหารส่วนใหญ่
อาศัยกลิ่นประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางพวกจะมีจมูกไวต่อการรับกลิ่นมากเช่นพวกสัตว์มีกีบ สัตว์ฟันแทะและสัตว์กินเนื้อ สัตว์เหล่านี้จะมีจมูกอ่อนยาวมากและมีเยื่อรับกลิ่นยึดติดโดยตลอด การที่มีเซลล์รับกลิ่นมากทำให้สามารถรับกลิ่นได้ดี
จมูกของคนแบ่งออกเป็น 3 บริเวณดังนี้
1. ส่วนแรกของลมหายใจเข้า ( Vestibular region ) ได้แก่รูจมูก และโพรงจมูกส่วนนอก
เป็นส่วนแรกของจมูก เป็นทางผ่าน ของลมหายใจเข้า มีขนจมูกและต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไปภายใต้กระดูกอ่อน
ซึ่งเป็นส่วนปลายของจมูก
2. ส่วนหายใจ ( Respiratory region ) เป็นบริเวณที่เกี่ยวกับทางเดินของลมหายใจ
เป็นส่วนที่ยาวที่สุด อยู่ลึกจากบริเวณทางเข้ามีเยื่อบุผิวหลายชนิด บางชนิดเป็นเยื่อบุผิวที่มีเซิเลีย
( ciliated epithelium ) ซึ่งมีสีชมพู ภายในมีต่อมเมือกและเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงอยู่มากมาย
3. ส่วนดมกลิ่น ( Olfactory region ) หรือบริเวณรับกลิ่น เป็นบริเวณที่มีการดมกลิ่นอยู่ที่
ส่วนบนและด้านหลังของจมูกทั้งซ้ายและขวา ในจมูกแต่ละข้างมีพื้นที่ประมาณ 2.5 ตารางเซนติเมตร
บริเวณรับกลิ่นด้านบนจะมีเยื่อบุเรียกว่า ออลแฟคทอรี เอปีทีเลียม ( Olfactory epithelium )
เยื่อนี้มีสีเหลือง ที่เยื่อนี้จะมีตัว เซลล์ประสาทรับกลิ่น ( Olfactory receptor หรือ Olfactory cell ) ฝังอยู่ประมาณ 60 ล้านเซลล์ เซลล์รับกลิ่นนี้เป็นเซลล์ประสาทชนิดสองขั้ว แต่ละเซลล์มีเดนไดร์ตประมาณ 6 – 12 อัน การที่มีเดนไดร์ตหลายอันทำให้มองเห็นเป็นเส้น ๆ จึงเรียก เดนไดร์ตนี้ ว่า แฮร์( Hair )
หรือซีเลีย ( Cilia ) ซึ่งจะกระตุ้นแล้วส่งกระแสประสาทไปตามเส้นประสาทสมองคู่ที่ 1 หรือเรียกว่า
ออลแฟคทอรีแทรค ( Olfactory tract ) ไปยังสมองส่วนออลแฟคทอรีบัลบ์ บริเวณจมูกส่วนนี้เต็มไปด้วยเยื่อเมือก และเซลล์หลายชนิด นอกจากนี้ช่องจมูกยังติดต่อกับคอหอยได้โดยมีรูเล็ก ๆ ทำให้
ได้กลิ่นอาหารด้วย
คุณสมบัติของตัวกระตุ้นที่จะทำให้รับกลิ่นได้ดี

1. ต้องระเหยได้ สามารถระเหยเข้ารูจมูกได้
2. ละลายน้ำได้เล็กน้อยเพื่อให้ละลายผ่านเยื่อเมือกเข้าสู่เซลล์รับกลิ่นได้
3. ละลายในไขมันได้ เพราะบริเวณ ออลแฟคทอรี แฮร์ และปลายเซลล์รับกลิ่นประกอบด้วยไขมัน
ในขณะที่เป็นหวัดจะรู้สึกคัดจมูก จมูกจะตันและเยื่อจมูกจะบวม ความสามารถในการรับกลิ่นจะหายไป แต่ละคนมีความไวต่อกลิ่นไม่เหมือนกัน ผู้หญิงจมูกจะไวต่อการรับกลิ่นได้ดีกว่าผู้ชาย

อวัยวะรับความรู้สึกนัยน์ตากับการมองเห็น


นัยน์ตาและการมองเห็น
อวัยวะรับความรู้สึก (receptor) ในสัตว์ชั้นต่ำไม่สลับซับซ้อนเหมือนกับของสัตว์ชั้นสูงซึ่งมีส่วนประกอบที่ซับซ้อนและยังมีโครงสร้างที่ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายได้ด้วย เช่นหู ,ลูกนัยน์ตา
อวัยวะที่ใช้รับสัมผัสของสัตว์ชั้นสูงเหมาะสำหรับใช้เพื่อการอยู่รอด โดยอวัยวะเหล่านี้ใช้เพื่อหาอาหาร , ใช้ป้องกันตัว ใช้เพื่อหนีศัตรู ดังนั้นเพื่อการอยู่รอด จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงจนกระทั่งอวัยวะเหล่านั้นใช้การได้ดี และเหมาะสม เพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อม เช่น ความดัน อุณหภูมิ แสงสว่าง

อวัยวะรับความรู้สึกแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ
1.อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ ( Special sense organ ) ได้แก่อวัยวะรับความรู้สึกจากสารเคมี คือจมูก และลิ้น อวัยวะรับเสียงคือ หู และอวัยวะรับภาพคือตา
2. อวัยวะรับความรู้สึกทั่วไป ( General sense organ ) ได้แก่อวัยวะรับความรู้สึกทางผิวหนัง
ตาเป็นอวัยวะรับแสง ( photoreceptor) มีในสิ่งมีชีวิตตั้งแต่พวกโพรติสท์ จนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลัง
สามารถตอบสนองต่อแสงสว่างได้ แต่มีบางชนิดเท่านั้นที่รับภาพได้ นัยน์ตาของสัตว์ชั้นสูงบางพวกรับภาพได้เพราะมีทั้งเลนส์และเรตินาสำหรับรับภาพ เช่นในแมลงจะเป็นตาประกอบ ส่วนในปลาหมึกจะมีเลนส์เป็นก้อนกลม .
นัยน์ตามนุษย์มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับกล้องถ่ายรูปโดยมีส่วนต่างๆเหมือนกันคือ เลนส์ทำหน้าที่รับแสง หากแสงเข้ามากไป ตาจะปรับม่านตา ( iris ) ให้ปล่อยแสงผ่านรูม่านตา ( pupil ) ให้น้อยลงเหมือนไดอะแฟรมของกล้องถ่ายรูป การที่จะให้ภาพตกลงบนเรตินาพอดี ตาจะเปลี่ยนรูปร่างของเลนส์ แต่กล้องถ่ายรูปจะเลื่อนระยะระหว่างเลนส์กับฟิล์ม ตัวกล้องถ่ายรูปทำหน้าที่เหมือนห้องมืดเหมือนกับในดวงตา
นัยน์ตาประกอบด้วยลูกตา (eye ball ) อยู่ภายในกระบอกตา มีกล้ามเนื้อลายควบคุมการเคลื่อนไหว 6 มัด ทำให้สามารถกรอกลูกตาไปมาได้มีส่วนประกอบที่ช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ลูกนัยน์ตา เช่น คิ้ว และขนตาช่วยป้องกันฝุ่นละออง หนังตาบนและล่าง ป้องกันอันตรายแก่ลูกนัยน์ตา ต่อมน้ำตา (lacrimal gland ) ซึ่งอยู้บริเวณหางตาสร้างน้ำตามาหล่อเลี้ยงแก้วตาให้ชุ่มชื่น และรักษาแก้วตาให้สะอาดอยู่เสมอ น้ำตามีน้ำมันสำหรับเคลือบลูกนัยน์ตาและยังมีเอนไซม์ช่วยทำลายจุลินทรีย์ น้ำตาจะถูกระบายทิ้งออกไปทางท่อ บริเวณหัวตานำน้ำตาไประบายออกทางโพรงจมูกและส่งต่อไปบริเวณคอหอย
ลูกตาด้านข้างถ้าผ่าออกดูจะพบว่าประกอบด้วยเยื่อ เรียงตัว 3 ชั้นคือ
1. ชั้นสเคลอรา (sclera )
2. ชั้นคอรอยด์ (choroid )
3. ชั้นเรตินา (retina )
เยื่อชั้นสเคลอรา ( sclera ) เป็นเยื่อชั้นนอกสุดประกอบไปด้วยเยื่อที่มีลักษณะเหนียวและหนาไม่ยืดหยุ่นส่วนใหญ่มีสีขาวได้แก่ส่วนที่เป็นตาขาว สเคลอราส่วนที่อยู่ด้านในมีช่องทางเข้าของเส้นประสาทและเส้นเลือด เยื่อชั้นสเคลอราทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้แก่ลูกนัยน์ตายกเว้นบางส่วนที่มีลักษณะเป็นแผ่นใสคลุมส่วนของตาดำมีขนาดเพียง 1 ใน 6 ของลูกตาทั้งหมด ส่วนนี้เรียกว่า คอร์เนีย (cornea) หรือกระจกตา ส่วนนี้จะมีความชุ่มชื้นหล่อลื่นอยู่เสมอและให้แสงผ่านเข้าไปด้านในของตาได้ กระจกตามีความสำคัญมากถ้าพิการสามารถเปลี่ยนกระจกตาได้โดยนำของคนที่ตายใหม่ๆมาเปลี่ยนกันได้ สเคลอราส่วนที่อยู่ด้านในเป็นทางเข้าของเส้นประสาทและหลอดเลือด ด้านหลังของสเคลอรามีกล้ามเนื้อลายมายึด 6 มัดกล้ามเนื้อเหล่านี้ถูกควบคุมด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3,4 และ 6 มีผลทำให้นัยน์ตาสามารถเคลื่อนไหวหรือกลอกตาไปมาได้
เยื่อชั้นคอรอยด์ ( choroid ) เป็นเยื่อชั้นที่อยู่กลางมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยง โดยผ่านเข้ามาทางด้านหลังของสเคลอราเพื่อนำอาหารมาเลี้ยงยังด้านในของตา ผนังชั้นนี้ส่วนที่อยู่ติดกับเรตินามีรงควัตถุสะสมอยู่มาก ทำหน้าที่เป็นฉากกั้นแสงที่ผ่านกระจกตาเข้ามาไม่ให้ผ่านไปถึงคอรอยด์ด้านในลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้เซลล์รับแสงในชั้นเรตินาสามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่ ทางส่วนด้านหน้ามีส่วนหนาเป็นกล้ามเนื้อเรียบ เรียกว่า ซิลิอารี บอดี ( ciliary body ) มีหน้าที่ปรับความโค้งของเลนส์ให้สามารถรับภาพเมื่อรับภาพในระยะต่างๆได้อย่างเหมาะสม ถัดจากกล้ามเนื้อซิลิอารีออกไปทางด้านใกล้กับคอร์เนียมีกล้ามเนื้อยื่นมาจากด้านบนและด้านล่างคล้ายกับเป็นผนังกั้นบางส่วนของเลนส์เรียกว่าม่านตา ( iris ) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบ ทำหน้าที่คอยควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้าสู่ด้านในของตาให้พอเหมาะ ช่องตรงกลางระหว่างม่านตาเรียกว่ารูม่านตา (pupil ) ความกว้างของช่องนี้จะเปลี่ยนขนาดตามความเข้มของแสง ถ้าอยู่ในที่มืดรูม่านตาจะขยายใหญ่เพื่อให้แสงผ่านเข้าได้มาก แต่ถ้าอยู่ในที่มีแสงสว่างมากรูม่านตาจะหรี่เล็กลงแคบเข้า เพื่อป้องกันมิให้แสงเข้าสู่ตามากเกินไป ม่านตานี้จะมีสีของรงควัตถุเดียวกับที่พบในชั้นคอรอยด์ ม่านตาคนเอเชียจะมีเมาลานินอยู่มาก ทำให้เรามองเห็นนัยน์ตามีสีดำ ส่วนผู้ที่มีนัยน์ตาสีฟ้านั้นมีรงควัตถุพวกกวานินปนอยู่กับเมลานิน ส่วนคนเผือกเป็นคนที่ไม่มีรงควัตถุที่ม่านตา ทำให้มองเห็นหลอดเลือดได้ชัดเจนดังนั้นจึงมองเห็นม่านตามีสีแดง
เยื่อชั้นเรตินา ( retina ) เป็นเยื่อที่อยู่ชั้นในสุดของลูกตา แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
ก. ชั้นสี ( pigment layer ) ชั้นนี้มีรงควัตถุเช่นเดียวกับชั้นคอรอยด์ทำหน้าที่คอยป้องกันแสงที่ผ่านเข้ามาถึงแม้จะมีม่านตาคอยกรองแสงแต่ถ้าแสงผ่านเข้ามาจ้ารงควัตถุจะเข้าห้อมล้อมเซลล์รับแสงทั้งรูปแท่งและรูปกรวยแต่ถ้าแสงผ่านเข้าน้อยรงควัตถุจะกระจายออกไป
ข. ชั้นเส้นประสาท ( nervous layer )ชั้นนี้เป็นชั้นที่รับภาพเนื่องจากมีเซลล์รับแสง 2 ชนิด คือ
เซลล์รูปแท่ง (rod cell ) มีลักษณะเป็นรูปแท่งทรงกระบอกกระจายอยู่ทางด้านหน้าของเรตินามากกว่าทางด้านหลัง เรตินาแต่ละข้างจะมีเซลล์รูปแท่งประมาณ 125 – 130 ล้านเซลล์ เซลล์ชนิดนี้มีความไวในการรับแสงมากแม้จะอยู่ในที่มีแสงน้อยหรือในที่ สลัวๆ แต่ภาพที่เห็นจะเป็นภาพขาวดำ สัตว์ที่หากินกลางคืนจะมีเซลล์รูปแท่งมากกว่าเซลล์รูปกรวย
เซลล์รูปกรวย ( cone cell )มีลักษณะเป็นรูปกรวยกระจายอยู่มากทางด้านหลังของเรตินา เรตินาแต่ละข้างจะมีเซลล์รูปกรวยประมาณ 7 ล้านเซลล์ เป็นเซลล์ที่สามารถรับสีได้ แต่เซลล์ชนิดนี้จะทำงานได้ดีต้องอยู่ใน ที่มีแสงมากเท่านั้น
เซลล์รูปกรวยมี 3 ชนิดตามความสามารถในการรับแสง คือ รับแสงสีแดง สีเขียว และสีแดง การที่เรา สามารถเห็นแสงสีได้มากกว่า 3 สีก็เนื่องจากเซลล์รูปกรวยถูกกระตุ้นพร้อมกันทำให้เกิดแสงสีต่างๆขึ้นเช่นกระตุ้นเซลล์รูปกรวยที่รับแสงสีแดงกับเขียวพร้อมๆกันในความเข้มของแสงเท่ากันจะเห็นเป็นสีเหลือง
นัยน์ตายังมีส่วนประกอบอื่นๆที่สำคัญได้แก่ เลนส์ตา หรือแก้วตา ( lens ) อยู่ถัดจากชั้นคอร์เนียและม่านตาเข้าไปจะมีลักษณะเป็นเซลล์ใสอยู่ภายในปลอกเยื่อบางๆเลนส์ไม่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงแต่ได้รับอาหารจากของเหลวที่เรียกว่าน้ำเลี้ยงลูกตาน้ำเลี้ยงลูกตาที่อยู่ด้านหน้าเลนส์ทมีลักษณะเป็นของเหลวใสเรียกว่า เอเควียส ฮิวเมอร์ (Aquesous humor)เลนส์ตาจะแบ่งช่องว่างออกเป็น 2 ส่วนคือ ช่องว่างหน้าเลนส์ คือส่วนที่อยู่ด้านนอกใกล้คอร์เนียและช่องว่างหลังเลนส์ที่มีขนาดใหญ่กว่าตอนหน้า ด้านหลังเลนส์มีของเหลวที่มีลักษณะเป็นเมือกใสและมีสารซึ่งมีดัชนีหักเหของแสงสูงมากเรียกว่าวิเทรียส ฮิวเมอร์ (Vitreous humor)ของเหลวเหล่านี้จะมีโปรตีนและกลูโคสต่ำ แต่มีโซเดียม และคลอไรด์สูงกว่าเลือด ของเหลวนี้มีการสร้างตลอดเวลาจึงมีการไหลเวียนออกอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำให้ค่าความดันลูกตาในช่องหน้าเลนส์ คงที่ นอกจากนี้ของเหลวนี้ยังช่วยให้ตาคงรูปร่างเป็นทรงกลมและช่วยในการหักเหแสง
เลนส์ตาเป็นเลนส์นูน สามารถยืดหดหรือปรับผิวโค้งของเลนส์ได้ โดยการควบคุมของกล้ามเนื้อรอบเลนส์ตา(ciliary ) และเอ็นยึดเลนส์ตา ( suspensory ligament )
การยืดหดของเลนส์ทำให้ความโค้งเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยปรับจุดโฟกัสให้เหมาะสม คือเมื่อกล้ามเนื้อยึดเลนส์หดตัวทำให้เอ็นที่เชื่อมต่ออยู่กับกล้ามเนื้อหย่อน เลนส์จะโป่ง
จะลดระยะโฟกัสให้สั้นลงสามารถรับภาพที่อยู่ในระยะใกล้ได้ การปรับผิวของเลนส์ตาขณะมองภาพใกล้เลนส์นูนจะป่องออก แต่ถ้ากล้ามเนื้อคลายตัวจะทำให้เอ็นที่ติดกับกล้ามเนื้อตึง ก็จะไปดึงให้เลนส์แบนราบระยะโฟกัสอยู่ไกลจึงเหมาะกับมองภาพที่อยู่ไกลขณะที่มองภาพใกล เลนส์ตาจะแบนลง ในขณะที่มองภาพใกล้กล้ามเนื้อรอบเลนส์ตาจะหด ทำให้เอ็นยึดเลนส์คลายตัวเลนส์จะนูนป่องออกจะรับภาพได้ชัดเจน ถ้ามองวัตถุใกล้ๆนานเช่นเพ่งมองตัวหนังสือใกล้ๆนานๆจะรู้สึกปวดตา เนื่องจากกล้ามเนื้อตาหดตัวอยู่ตลอดเวลา
องค์ประกอบในการมองเห็นของนัยน์ตา มี 3 ส่วนคือ
1. ระบบเลนส์ ประกอบด้วยกระจกตา และเลนส์ ทำหน้าที่รวบรวม ( focus )แสงให้ตกบนจอรับภาพ
2. เซลล์รับแสงและเซลล์ประสาทอื่นๆซึ่งเรียงตัวกันเป็นชั้นๆในเรตินาทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นกระแสประสาท
3. ระบบเส้นประสาท สำหรับส่งกระแสประสาทจากเรตินาไปยังสมองส่วน visual cortex
การเกิดภาพ
เมื่อแสงในช่วงที่ตาคนเห็นได้ในวัตถุจะผ่านกระจกตาและเลนส์ไปยังเรตินา เมื่อแสงผ่านเลนส์เข้าไปจะถูกเบนให้รวมจุดโฟกัส ในคนสายตาปกติจุดรวมแสงจะอยู่บนเรตินาเกิดเป็นภาพชัดเจน พลังงานของแสงจะกระตุ้นให้เซลล์รับแสงทั้งสองชนิดเกิดกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทสมองเข้าสู่ visual cortex ภาพที่เกิดขึ้นเป็นภาพหัวกลับ แต่สมองแปลความรู้สึกว่าหัวตั้ง
การรับภาพกับสมอง เมื่อภาพตกลงบนเรตินาแล้วจะถูกเปลี่ยนไปเป็นกระแสประสาทส่งไปตามเส้นประสาทสมองคู่ที่ 2 ก่อนที่จะเข้าสู่สมองเส้นประสาทนี้จะไขว้กันตรงบริเวณที่เรียกว่า ออพติก ไคแอสมา ( Optic chiasma ) ภาพจากตาขวาจะถูกส่งเข้าสมองด้านซ้ายและในทางตรงกันข้ามภาพจากตาซ้ายถูกส่งเข้าสมองด้านขวา ส่วนของภาพที่ซ้อนกันเรียกว่าส่วนออพติก แอกซิส (optic axes)
การเห็นด้วยสองตา มีการรวมภาพที่เห็นในตาแต่ละข้างเข้าด้วยกัน และมีการแปลภาพของ visual cortex เป็นภาพเดียวทำให้มองเห็นเป็นภาพสามมิติ กะระยะทางของภาพได้แม่นยำเพิ่มบริเวณที่ตามองเห็นได้มากกว่าตาเดียวทำให้จุดบอดหายไป จุดที่ภาพจากตาทั้งสองไปรวมกันคือที่จุด correspond ถ้าภาพไม่ได้รวมกันที่จุดนี้ภาพที่ปรากฏจะเป็นภาพซ้อน
สรีรวิทยาของการมองเห็น
เยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์รูปแท่งมีรงควัตถุสีม่วงแดงเรียกว่าโรดอปซิน ( rhodopsin ) ประกอบด้วยโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อออปซิน ( opsin )จับกับอนุพันธ์ของวิตามินเอ ที่เรียกว่าเรตินีน (retinene )ในรูปของ cis retinene รงควัตถุนี้คล้ายกับสารที่ฉาบไว้บนฟิล์มถ่ายรูปเมื่อมีแสงผ่านเข้ามากระตุ้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี กลายเป็น ออปซิน และเรตินีน และเกิดพลังงานในรูปกระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้เกิดกระแสประสาทในรูปแท่งผ่านเซลล์ประสาทชั้นต่างๆในเรตินาผ่านเส้นประสาทออกไปยังสมองส่วนซีรีบรัม
ในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นในการสังเคราะห์โรดอปซินขึ้นมาใหม่มีไม่เพียงพอทำให้การมองเห็นได้ในเวลาที่มีแสงสลัว หรือในที่มืดช้ากว่าปกติ เรียกว่าโรคตาบอดกลางคืน (night blindness)แต่ถ้ารับประทานอาหารที่มีวิตามินเออย่างเพียงพอ วิตามินเอ จะเปลี่ยนไปเป็นเรตินีน การรับภาพจะเกิดขึ้นได้ตามปกติ
การมองเห็นภาพสี เกิดจากการทำงานของเซลล์รูปกรวยมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเช่นเดียวกับเซลล์รูปแท่ง แต่ต่างกันที่รงควัตถุที่ถูกกระตุ้นเป็นไอโอดอปซิน ( iodopsin )ซึ่งประกอบด้วย photopsin และ retinene และแสงที่จะกระตุ้นให้ไอโอดอปซินเกิดการแตกตัวเป็นโฟทอปซินและเรตินีน ต้องมีความเข้มสูง
ความผิดปกติของตาและการแก้ไข
1. สายตาสั้น ภาพเมื่อผ่านเลนส์ตาจะตกก่อนเรตินา เกิดจากลูกตายาวรีมากกว่าปกติ หรือเลนส์ตาโค้งมากไป แก้ไขได้โดยสวมแว่นที่ทำด้วยเลนส์เว้า
2.สายตายาว ภาพจะตกเลยเรตินาออกไป อาจเป็นเพราะลูกตาสั้นกว่าปกติหรือเลนส์ตาแบนไปเพราะกล้ามเนื้อรอบเลนส์ตาขาดประสิทธิภาพไม่บีบให้เลนส์ป่องออกมาได้มักพบในคนสูงอายุ การแก้ไข โดยการสวมแว่นที่ทำด้วยเลนส์นูน
3.สายตาเอียง เกิดจากผิวกระจกตาหรือเลนส์ตาโค้งไม่เท่ากันหรือไม่สม่ำเสมอกันทำให้แสงที่ผ่านผิวกระจกตา เกิดการหักเหไม่เท่ากันและทำให้ภาพไม่เป็นจุดชัดเจน หรืออาจเกิดจากผิดปกติที่เลนส์ การแก้ไข ใช้แว่นตาที่ทำด้วยเลนส์กาบกล้วย (cylind zical lens ) หรือเลนส์ทรงกระบอก ที่มีด้านหน้าเว้าด้านหลังนูนเพื่อให้แสงที่ตกผ่านแต่ละระบบมาโฟกัสที่จุดเดียวกัน
4. ตาเหล่ ตาเข เกิดจากกล้ามเนื้อภายนอกลูกตาทำงานไม่ประสานกัน เกิดจากการอ่อนแรงของ กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งจะทำให้ภาพซ้อนกัน การแก้ไข ถ้าเป็นเด็กใช้วิธีการฝึกกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง แต่ถ้าเป็นมากใช้วิธีผ่าตัดมัดกล้ามเนื้อที่หย่อน
5. การเห็นภาพไม่ชัด เนื่องจากรูม่านตาเปิดกว้าง แสงที่ผ่านเลนส์จึงโฟกัสที่จุดต่างๆกันจะเกิดสีรุ้งหลายสีขึ้น จึงทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจนและเกิดสีพร่าขึ้น การแก้ไขโดยสวมแว่นดำและพยายามอย่ามองวัตถุในที่สว่างมากๆ หรือมีแดดจ้า หรืออาจให้ยาลดรูม่านตา
6. ตาบอดสี (color blindness )เกิดจากระบบการทำงานของเซลล์รูปกรวยในชั้นเรตินาผิดปกติไปจำแนกได้เป็นบอดเฉพาะสีเขียวกับสีแดง เรียกว่าตาบอดสีไม่สมบูรณ์ ยังมองเห็นสีที่เซลล์รูปกรวยทำงานได้
ส่วนอีกประเภทหนึ่งจะเห็นได้เฉพาะภาพขาวดำเท่านั้นเรียกว่าตาบอดสีอย่างสมบูรณ์ เพราะสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับสีถูกทำลาย หรืออาจเกิดจากโรคบางชนิด

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเขียนข้อเสนอโครงร่างวิจัย

       เนื่องจากได้รับการคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)               ให้เป็นครูพี่เลี้ยงวิชาการตามโครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์                   ช่วงชั้นที่ 3  จึงมีโอกาสได้เข้ารับการประชุมปฏิบัติการอบรมครูแกนนำวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หลักสูตร 3 การวิจัยในชั้นเรียน วันที่ 2 4 กรกฎาคม  2552 ณโรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ วิทยากรในการอบรมมีหลายท่าน   แต่หัวข้อที่นำมาเผยแพร่นี้ คือการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย  วิทยากรคือ  รศ.ชูศรี  วงศ์รัตนะ     อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ              เห็นว่าเนื้อหาจากการอบรมน่าสนใจและคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนครูในการทำวิจัย                จึงนำเอกสารการอบรมมาเผยแพร่
                                                                                         
                                                                               กัญญา    ชัยรัตน์
                                                                    กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย
                หัวข้อที่จะเสนอมี 3 หัวข้อ คือ
·       ความหมายของข้อเสนอโครงการวิจัย
·       ส่วนประกอบที่สำคัญของข้อเสนอโครงการวิจัย
·       หลักการเขียนข้อเสนอ

ความหมายของข้อเสนอโครงการวิจัย
     ข้อเสนอโครงการวิจัย ( Research  Proposal ) คือ แผนงานวิจัยที่ผู้วิจัยเขียน ตามที่ผู้วิจัยได้คิดและวางแผนไว้เป็นลำดับขั้นตอนหลังจากที่ได้หัวข้อวิจัยที่เหมาะสมแล้ว เป็นแผนงานวิจัยที่กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไร และจะทำอย่างไร เป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าหรือมีความสำคัญอย่างไร
โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในการวิจัยเป็นอย่างไร  มีกรอบแนวคิดที่ได้จากการศึกษาเอกสาร ทฤษฎี และงานวิจัยสนับสนุนหรือไม่ ใช้รูปแบบการวิจัยแบบใดในการตอบปัญหาวิจัย และมีขั้นตอนการดำเนินการวิจัยอย่างไร โดยรายละเอียดต่าง ๆ ที่เขียนในแผนงานวิจัยต้องสอดคล้องกับหัวข้อวิจัยและวัตถุประสงค์ของการวิจัย

ส่วนประกอบที่สำคัญของข้อเสนอโครงการวิจัย
1.             ชื่อเรื่อง
2.             ภูมิหลัง หรือที่มาของปัญหา
3.             วัตถุประสงค์ของการวิจัย
4.             ความสำคัญของการวิจัย
5.             ขอบเขตของการวิจัย
6.             นิยามศัพท์เฉพาะ
7.             กรอบแนวคิดในการวิจัย
8.             สมมติฐานของการวิจัย ( ถ้ามี )
9.             เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
10.      วิธีดำเนินการ ซึ่งควรกล่าวถึงหัวข้อต่อไปนี้
                        กลุ่มเป้าหมายนักเรียน
                        เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
                        แบบแผนการวิจัย ( ถ้ามี ) และขั้นตอนการทดลอง
                        วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
                        การวิเคราะห์ข้อมูล
11.      งบประมาณค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการดำเนินงาน

หลักการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย
            หลักการเขียนชื่อเรื่อง
                ระบุตัวแปร  กลุ่มเป้าหมายนักเรียน  รูปแบบการวิจัย
                ตัวอย่าง  ผลการใช้ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ และเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

                หลักการเขียนภูมิหลัง
-                   ความสำคัญของตัวแปรที่เลือกมาศึกษา
-                   สภาพปัญหาที่พบในกลุ่มเป้าหมายนักเรียน
-                   แนวทางการวิจัยที่จะใช้ในการแก้ปัญหา

หลักการเขียนความมุ่งหมายของการวิจัย
-                   ศึกษาอะไร ( ตัวแปรตาม )
-                   กับใคร ( กลุ่มเป้าหมายนักเรียน
-                   ในแง่ใด ( สำรวจ เปรียบเทียบ หาความสัมพันธ์ หรือทดลอง )

หลักการเขียนความสำคัญของการวิจัย
เขียนบรรยายในประเด็นดังนี้
-                   ทำให้ได้ความรู้ใหม่อะไร
-                   ได้แนวทางอะไรในการแก้ปัญหา
-                   ได้ประโยชน์สำหรับใคร

หลักการเขียนขอบเขตของการวิจัย
-                   กำหนดลักษณะของกลุ่มเป้าหมายนักเรียน  และระบุจำนวนให้ชัดเจน
-                   กำหนดเหตุผลและวิธีการเลือกกลุ่มเป้าหมาย
-                   ระบุตัวแปรที่ศึกษา

หลักการเขียนนิยามศัพท์เฉพาะ
-                   นิยามศัพท์เฉพาะ คือ การให้ความหมายของคำสำคัญในการวิจัยเรื่องนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรตาม และตัวแปรอิสระ
-                   ตัวแปรที่เป็นนามธรรม ต้องให้นิยามแบบนิยามปฏิบัติการ ( Operational  definition )
-                   การนิยาม ต้องอาศัยทฤษฎี หลักการ แนวคิดจากผู้รู้ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

หลักการเขียนกรอบแนวคิดในการวิจัย
    ควรเสนอกรอบแนวคิดที่เป็นทฤษฎี หลักการ หรือแหล่งที่มาของตัวแปรอิสระที่จะใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาของนักเรียน

หลักการเขียนสมมติฐานของการวิจัย
-                   สมมติฐานของการวิจัย คือ คำตอบที่ผู้วิจัยคาดคะเนไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุผล เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ได้วางไว้
-                   งานวิจัยที่ต้องตั้งสมมติฐาน คือ งานวิจัยที่ต้องการอธิบายตัวแปรตามด้วยตัวแปรอิสระ

หลักการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
-                   เน้นแนวคิด หลักการ หรือทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของตัวแปรหลักที่ศึกษา
-                   เน้นงานวิจัยเกี่ยวกับตัวแปรหลักที่ศึกษา
-                   สรุปเป็นแนวคิด หรือหลักการ ที่ผู้วิจัยจะใช้ในการดำเนินการวิจัย

หลักการเขียนวิธีดำเนินการวิจัย
1.             การเขียนกลุ่มเป้าหมายนักเรียน
             -  ลักษณะการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย
             -  เหตุผลของการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย
             -  เทคนิคหรือวิธีการเลือกกลุ่มเป้าหมาย
2. การเขียนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
    2.1 เครื่องมือการวิจัยที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล
           -  ชื่อเครื่องมือการวิจัย เช่น แบบสอบถาม  แบบทดสอบ
           -  ลักษณะเครื่องมือการวิจัย เช่น แบบสอบถามแบบมาตรส่วนประมาณค่า
              แบบทดสอบแบบอัตนัย
          -  ที่มาของเครื่องมือการวิจัย : สร้างเอง ปรับปรุง ใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพ
    2.2  เครื่องมือการวิจัยที่ใช้ในการทดลอง
          -  ชื่อเครื่องมือ เช่น ชุดกิจกรรม  แบบฝึก แผนการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ
          -  ระบุลักษณะเครื่องมือ
         -  ที่มาของเครื่องมือ : สร้างเอง พัฒนาจากที่มีอยู่
3. การเขียนแบบแผนการวิจัย ( ถ้ามี )
    - ชื่อแบบแผนการวิจัย
    - จำนวนกลุ่มตัวอย่าง
    - จำนวนครั้งของการเก็บข้อมูล
4. การเขียนขั้นตอนของการดำเนินการทดลอง
    - เขียนให้สอดคล้องกับแบบแผนการวิจัยที่เลือกใช้
    - เขียนให้เห็นกระบวนการทดลองเป็นขั้น ๆ
5. การเขียนวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
   - จำนวนครั้งในการเก็บรวบรวมข้อมูล
   - ลักษณะของเครื่องมือการวิจัยที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลแต่ละครั้ง
   - วิธีการเก็บข้อมูล ( เช่น ใช้แบบทดสอบ  สัมภาษณ์  จดบันทึก )
6. การเขียนเรื่องการสะท้อนข้อมูลกลับ
    - สะท้อนกลับเมื่อใด
    - สะท้อนกลับอย่างไร
   - ใช้ผลการสะท้อนกลับอย่างไร
7. การเขียนเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล
    7.1 กรณีข้อมูลเชิงปริมาณ
          - ใช้สถิติพื้นฐาน เช่น ร้อยละ ค่าเฉลี่ย
          - ใช้แผนภูมิแท่ง / ใช้กราฟเส้น
   7.2 กรณีข้อมูลเชิงคุณภาพ
         - วิเคราะห์เนื้อหา ( ข้อมูลที่ได้จากการสังเกต  จดบันทึก )
         - จัดกลุ่มเนื้อหา

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อวัยวะรับความรู้สึกหูและการทำงาน

นักเรียนศึกษาคลิปวิดีการทำงานของหู แล้วจงอธิบายลำดับการเคลื่อนที่ของคลื่นเสียงที่ผ่านเข้าไปในหูจนถึงเส้นประสาทรับเสียง















หูและการทำงาน
ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง หูทำหน้าที่ในการรับฟัง ( phononreceptor) และทำหน้าที่เกี่ยวกับ
การทรงตัว ( statoreceptor ) ส่วนในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอวัยวะในการรับฟังและทรงตัวอยู่คนละแห่ง
ในสัตว์พวกกบ คางคก จะมีช่องหูส่วนกลาง ด้านนอกของช่องหูส่วนนี้มีเยื่อบางๆปิดอยู่ เยื่อนี้อยู่ในระดับเดียวกับผิวหนัง ในสัตว์เลื้อยคลานมีอวัยวะรับฟังเสียงที่ทำงานได้ดีกว่าสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก
งูมีอวัยวะรับฟังเสียงแต่ยังไม่มีแก้วหูเสียงจะผ่านกะโหลกศีรษะมายังอวัยวะรับความรู้สึกโดยตรงโดยรับเสียงจากพื้นดินได้ทางเดียวสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆและนก มีเยื่อแก้วหูที่อยู่ลึกจมอยู่ใต้ผิวหนังสัตว์เหล่านี้จึงมีรูหู สัตว์เลื้อยคลานบางชนิดเช่นจระเข้จะมีแผ่นหนังปิดช่องรูหู แผ่นหนังนี้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเจริญไปเป็นใบหู
หูของคนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ หูส่วนนอก หูส่วนกลาง และหูส่วนใน
1.หูส่วนนอก ( outer ear )ประกอบด้วย
1.1 ใบหู ( pinna ) ทำหน้าที่รวมคลื่นเสียงจากหูส่วนนอกเข้าสู่ช่องหู ประกอบด้วยกระดูกอ่อนที่ยืดหยุ่นได้ สามารถบิดตัวหรือกระดิกได้โดยไม่เสียรูปทรง เป็นโครงสร้างที่พบเฉพาะในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเท่านั้นสัตว์บางชนิดเช่นม้าจะเคลื่อนไหวใบหูเพื่อปรับตัวตามทิศทางของคลื่นเสียง
1.2 ช่องหู หรือรูหู ( external auditary canal )เป็นช่องยาว 25 ซม. อยู่ถัดจากใบหูเข้าไปจนจดเยื่อแก้วหู เป็นทางผ่านของคลื่นเสียงที่สะท้อนจากใบหูไปยังเยื่อแก้วหู ส่วนกลางของช่องหูจะมีขนและต่อมขี้หูผลิตสารคล้ายขี้ผึ้งทำหน้าที่ป้องกันแมลงเล็กๆและฝุ่นละอองไม่ให้เข้าสู่ภายใน และยังช่วยต้านทานคลื่นเสียงที่มากระทบเพื่อป้องกันเยื่อแก้วหู
1.3 เยื่อแก้วหู ( tympanic membrane หรือ ear drum)มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆรูปไข่กั้นระหว่างช่องหูกับหูส่วนกลาง โดยขึงอยู่บนขอบกระดูก คลื่นเสียงที่ผ่านเข้าไปในหูจะทำให้เยื่อแก้วหูสั่นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณความแรงของคลื่นเสียง ที่ผ่านเข้ามาเยื่อแก้วหูจะเพิ่มแรงสั่นสะเทือนได้มากถึง 17 เท่าเยื่อแก้วหูของคนปรกติจะไม่ทะลุและจะเป็นมันวาวเมื่อส่องไฟดู
2. หูส่วนกลาง (Middle ear)ประกอบด้วย
2.1 ท่อยูเตเชียน ( eustachian tube ) เป็นท่อเล็กๆเชื่อมต่อกับคอหอย ท่อนี้ทำหน้าที่ปรับความดัน
ระหว่างหูส่วนในกับบรรยากาศภายนอกให้เท่ากัน ในขณะที่ขึ้นบนดอยสูงซึ่งมีความดันภายนอกน้อย
กว่าภายใน เยื่อแก้วหูจะถูกดันให้โป่งออกมาทำให้เกิดอาการหูอื้อ หรือในคนที่เป็นหวัดอาจทำให้ท่อ
ยูสเตเชียนอักเสบและตีบตันได้ มีผลทำให้ความดันภายนอกกับภายในหูไม่เท่ากันทำให้เกิดอาการหู
อื้อได้เช่นเดียวกัน
2.2 กระดูก 3 ชิ้น คือกระดูกค้อน (malleus ) กระดูกทั่ง (incus ) และกระดูกรูปโกลน (stapes ) กระดูกทั้ง 3 ชิ้นนี้ทำหน้าที่ขยายความสั่นสะเทือนของเยื่อแก้วหูให้เพิ่มมากขึ้นโดยความสั่นสะเทือนของเยื่อแก้วหูจะทำให้กระดูกรูปค้อนมีการเคลื่อนไหวเป็นอันดับแรกส่งผลให้กระดูกทั่งและกระดูกโกลนเคลื่อนไหวตาม กระดูกทั้ง 3 ชิ้นทำหน้าที่ช่วยขยายความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้เพิ่มมากกว่าเดิมประมาณ 1.3 เท่า และทำหน้าที่เป็นคานถ่ายทอดการสั่นสะเทือนเข้าไปยังหูตอนในทางช่องรูปไข่
3. หูส่วนใน ( Inner ear ) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากหูส่วนกลาง เป็นที่อยู่ของหน่วยรับความรู้สึกในการรับฟังเสียงและหน่วยรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว
3.1 คอเคลีย ( cochlea )เป็นหน่วยรับความรู้สึกในการรับฟังเสียง มีลักษณะเป็นหลอดยาว 35 ม.ม.
ขดเวียนแบบก้นหอยส่วนฐานใหญ่ส่วนยอดเล็ก ภายในมีของเหลวบรรจุเรียกว่า endolymph และมี
อวัยวะรับเสียงโดยตรงเรียกว่า Organ of corti ภายในมีแผ่นเยื่อ 2 แผ่นขึงติดตลอดความยาวแบ่ง
ส่วนของคอเคลียออกเป็น 3 ช่องคือ ช่องบน ช่องกลางและช่องล่างทั้งสามห้องมีของเหลวบรรจุอยู่เต็ม
ของเหลวในช่องบนและช่องล่างเรียกว่า เพอริลิมพ์ ( perilymph) ส่วนของเหลวที่อยู่ในช่องกลาง
เรียกว่าเอนโดลิมพ์ (endolymph)ภายในช่องกลางมีอวัยวะรับเสียงเรียกว่าออร์แกน ออฟคอร์ติ
(Organ of corti ) ประกอบด้วยเซลล์ซึ่งมีขนเส้นเล็กติดอยู่เรียกว่าเซลล์ขน ( hair cells )เมื่อคลื่นเสียง
ผ่านเข้ามาจากแก้วหูจนถึงกระดูกค้อน ทั่ง โกลน ผ่านช่องรูปไข่เข้าเพอริลิมพ์และส่งไปยังเอนโดลิมพ์
เซลล์ขนในออร์แกนออฟคอร์ติจึงสั่นสะเทือนและส่งคลื่นของแรงสั่นสะเทือนนี้ไปยังเส้นประสาทสมอง
คู่ที่ 8
3.2 อวัยวะรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว ( Organ of equilibrium ) ประกอบด้วยหลอดครึ่งวงกลม 3 วง ( semicircular canal ) 3 อันเชื่อมติดกันกับถุงยูตริเคิล ( utricle หรือ utriculus) หลอดทั้ง 3อันมีรูปทรงครึ่งวงกลมตั้งฉากซึ่งกันและกัน ปลายของแต่ละหลอดเปิดเข้าสู่ยูตริเคิล ภายในหลอดมีของเหลวชื่อเอนโดลิมพ์หล่อเลี้ยงปลายด้านที่ไม่เชื่อมกับยูตริเคิลของแต่ละหลอดมีส่วนที่พองออกเรียกว่ แอมพูลา ( ampula ) ในแอมพูลามีกลุ่มเซลล์ที่มีขนเส้นเล็กๆเซลล์กลุ่มนี้ทำหน้าที่รับความรู้สึก เรียกว่า คริสตา
( crista ) ในแอมพูลายังมีก้อนหินปูนเล็กๆเรียกว่าสแตโตลิธ ( statolith ) เมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือเอียงตัวเอนโดลิมพ์จะไหลไปกระทบกับขนและสแตโตลิธกลิ้ง ไปกระทบขน ส่งความสะเทือนไปยังเซลล์ เซลล์จะส่งกระแสประสาทออกไปกับเส้นประสาทรับฟัง ส่งไปยังสมองทำให้ทราบถึงตำแหน่งที่อยู่ได้ว่า เอียงไปทางไหน จากนั้นยังสมองส่วนซีรีเบลลัม จะส่งกระแสประสาทออกไปกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยว กับการทรงตัวและรับรู้เกี่ยวกับตำแหน่งและความสมดุลของร่างกาย

แนะนำลิงค์ของครูกัญญา

http://www.google.co.th/
 http://www.youtube.com/watch?v=QGAm6hMysTA
http://www.youtube.com/watch?v=7pR7TNzJ_pA
http://www.youtube.com/watch?v=IjiJJgT61mk
กูเกิล

กลวิธีการสอน

เป็นบทความเรื่องแรกของครูกัญญา

     เนื่องจากได้รับการคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)  ให้เป็นครูพี่เลี้ยงวิชาการตามโครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์   ช่วงชั้นที่ 3  จึงมีโอกาสได้เข้ารับการประชุมปฏิบัติการอบรมครูแกนนำวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์  วันที่  29 เมษายน   2 พฤษภาคม  2552   ณโรงแรมแอมบาสเดอร์ เห็นว่าความรู้     ที่ได้รับจากการอบรมมีประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาผู้เรียน จึงได้นำบางส่วนของการได้รับการอบรมมาถ่ายทอดเพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครู
                                                                             กัญญา    ชัยรัตน์
กลวิธีการสอน
( Teaching  Strategies )
ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แม้ว่าจะมีวิธีการและกิจกรรมที่หลากหลายและเลือกใช้วิธีสอนที่เหมาะกับเนื้อหาตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแล้ว  ครูจำเป็นต้องมีกลวิธี
( เทคนิค + วิธีการ ) ต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นความคิด การตั้งคำถาม และส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างจริงจังและทั่วถึง รวมทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ให้นักเรียนเกิดความตื่นเต้น กระตือรือร้น และไม่น่าเบื่อหน่ายอีกด้วย
                นักการศึกษาทั่วไปและนักการศึกษาวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยคิดค้นกลวิธีการสอนไว้มากมาย  เพื่อให้ครูนำไปใช้ประกอบในกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้การทำกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น  อย่างไรก็ตามการจะเลือกกลวิธีใดมาใช้กับกิจกรรมการเรียนรู้ใดหรือขั้นตอนใดของกิจกรรมนั้น  ต้องพิจารณาให้เหมาะสม  ซึ่งในการออกแบบจัดกระบวนการเรียนรู้ที่จะสอดแทรกกลวิธีต่าง ๆ นั้นจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้หรือไม่  ควรต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
§  กลวิธีอะไรที่จะทำให้การสังเกตมีความหมายและเกิดการเรียนรู้
§  กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียน ตั้งคำถามได้อย่างหลากหลายและได้จำนวนมาก
§  กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลได้ตรงตามวัตถุประสงค์และกว้างขวาง
§  กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนอย่างเท่าเทียมกัน
§  กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียนสามารถออกแบบวิธีการสำรวจตรวจสอบด้วยตนเอง
§  กลวิธีอะไรที่จะทำให้นักเรียนสนใจความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับชีวิต
การใช้กลวิธีที่หลากหลายในการจัดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม  มีประโยชน์ต่อผู้เรียน
ดังนี้
1.             ใช้กระบวนการคิดมากขึ้นรวมทั้งได้ฝึกกระบวนการคิดระดับสูง
2.             เข้าใจสาระ  องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
3.             มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
4.             ได้งานที่มีคุณภาพมากขึ้น
5.             เรียนอย่างสนุกสนาน  เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษา  ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม
กลวิธีการสอนที่เหมาะกับวิทยาศาสตร์บางกลวิธีสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน  ดังต่อไปนี้
1.             การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ ( Cooperative  Learning )
2.             คิดเดี่ยว : คิดคู่ : แลกเปลี่ยนความคิด ( Think  Pair Share )
3.             จิ๊กซอว์ ( Jigsaw )
4.             สร้างผลสัมฤทธิ์ของทีม ( Student  Teams  Achievement  Division : STAD )
5.             วงแหวนชาวประมง ( Fisherman’s ring )
6.             การจัดระบบความคิดโดยใช้แผนผัง ( Graphic Organizer )
7.             เดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ( Gallery Walk )
8.             ม้าหมุน ( Carousel )
9.             ทำนาย : สังเกต : อธิบาย ( Predict  Observe  Explain : P O E )
10.      รู้แล้ว : อยากรู้ : เรียนรู้ ( Knowledge Want to know Learning : K W L )
11.      ตั๋วออก ( Exit  ticket )
12.      การระดมความคิด ( Brainstorming )
13.      การอ่านและการเขียนอย่างมีศักยภาพ ( Active reading & Wrtiting )
14.      บทบาทสมมติ ( Role  play )
15.      สถานการณ์จำลอง ( Simulation )
16.      เกม ( game )
ขอนำเสนอตัวอย่างกลวิธีการสอนที่นำไปใช้สอนดังต่อไปนี้

กลวิธี คิดเดี่ยว : คิดคู่ : แลกเปลี่ยนความคิด
( Think – Pair – Share )

แนวคิด
                กลวิธี คิดเดี่ยว : คิดคู่ : แลกเปลี่ยนความคิดเป็นกลวิธีหนึ่งของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ ( Cooperation  Learning ) มีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด  โดยให้นักเรียนฝึกกระบวนการคิดด้วยตนเอง  แล้วแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนเป็นคู่  แบ่งปันในกลุ่มของตัว และนำมาแบ่งปันให้เกิดการเรียนรู้ในกลุ่มใหญ่  โดยเริ่มจากให้นักเรียนคิดเป็นรายบุคคล  แล้วนักเรียนจับคู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน ต่อไปอาจขยายขนาดกลุ่มโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มขึ้นทีละคู่  ตอนสุดท้ายจะต้องให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นร่วมกันทั้งห้องเรียน กลวิธีนี้ใช้เมื่อต้องการให้นักเรียนฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  คิดอย่างมีเหตุผล  ฝึกทักษะการสื่อสารการแสดงออกและการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

วิธีการ
                กลวิธี Think – Pair – Share  ควรใช้ตอนเริ่มต้นบทเรียนเพื่อดึงความรู้เดิมของนักเรียนใช้  หลังจากนักเรียนได้ข้อมูลจากการสำรวจตรวจสอบแล้ว  ตอนวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอข้อมูล และใช้ในตอนสรุปบทเรียน  มีขั้นตอนในการดำเนินการ  ดังนี้
1.             ให้นักเรียนแต่ละคนคิดในประเด็นที่ครูกำหนดให้  บันทึกไว้
2.             ให้นักเรียนจับคู่กับเพื่อนช่วยกันคิด บันทึกไว้
3.             ให้นักเรียน 2 คู่ ( 4 คน ) รวมเป็นกลุ่ม ร่วมกันคิด แบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม
4.             ร่วมกัน อภิปราย สรุปความคิดเห็นของทั้งชั้นเรียน
กลวิธี  ม้าหมุน ( Carousel )
แนวคิด
                กลวิธีม้าหมุนหรือ Carousel เป็นกลวิธีที่กระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นหรือหัวข้อที่นักเรียนแต่ละกลุ่มได้รับไป  เขียนบนกระดาษติดไว้บันผนังห้อง แล้วให้นักเรียนกลุ่มอื่น ๆ เวียนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม  หลังจากนั้นเจ้าของกลุ่มกลับไปพิจารณาความคิดของกลุ่มและที่เพื่อนมาเพิ่มเติมเพื่ออภิปราย  สรุปความคิดเห็นของกลุ่ม และนำเสนอต่อชั้นเรียน และครูนำอภิปรายเพิ่มเติมเหมาะสำหรับการฝึกทักษะการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล  การแสดงออกและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
วิธีการ
                1. ครูกำหนดประเด็นคำถามที่แตกต่างกันเท่ากับจำนวนกลุ่มนักเรียน  นำไปติดบอร์ดหรือฝาผนังให้ระยะห่างกันพอสมควร
                2.  แจกปากกาสีต่างกันให้แต่ละกลุ่ม
             3. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มยืนที่ประเด็นคำถามแรกและระดมความคิดเขียนลงบนกระดาษนั้น
             4. เมื่อครูให้สัญญาณ ทุกกลุ่มเดินทิศทางตามเข็มนาฬิกาไปยังประเด็นถัดไป แล้วอ่านศึกษาข้อมูล  วิเคราะห์  อภิปรายผลงานของกลุ่มอื่นที่เขียนไว้ และทำเครื่องหมายถูกในหัวข้อแนวความคิดที่กลุ่มเห็นด้วย รวมทั้งเพิ่มเติมข้อคิดเห็นและประเด็นต่าง ๆ จนครบทุกกลุ่ม
             5.  ตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลการระดมความคิดประเด็นสุดท้ายที่กลุ่มศึกษา
                6. ทุกคนร่วมอภิปรายและสรุปแต่ละประเด็นโดยครูเป็นผู้นำการอภิปรายและใช้คำถามให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และสรุปผลการอภิปรายของทั้งห้อง
กลวิธี  วงแหวนชาวประมง ( Fisherman’s Ring )
แนวคิด
                กลวิธีวงแหวนชาวประมงเป็นกลวิธีฝึกให้นักเรียนพูดสื่อสารและแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง  ในประเด็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสังคม  โดยผลัดเปลี่ยนกันในวงเพื่อพูดข้อดีและข้อเสียของประเด็นนั้น
วิธีการ
                ครูเลือกประเด็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน ให้ข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสีย  หรืออาจกำหนดประเด็นให้นักเรียนสืบค้นข้อมูล  ให้นักเรียนศึกษาข้อมูล และใช้กิจกรรมวงแหวนชาวประมงเป็นสื่อในการทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้  ฝึกกระบวนการคิดและสื่อสารความรู้ไปยังผู้อื่น มีขั้นตอนดำเนินการดังนี้
                1. กำหนดประเด็นที่จะศึกษา   ควรเป็นประเด็นวิทยาศาสตร์ที่มีความขัดแย้งกันในสังคมขณะนั้น  และกำลังอยู่ในความสนใจของนักเรียนหรือประชาชน
                2. เตรียมใบกิจกรรม  ซึ่งควรประกอบด้วยหัวเรื่องต่อไปนี้
§  ชื่อเรื่อง
§  จุดประสงค์
§  วิธีดำเนินกิจกรรม
§  ใบความรู้  ซึ่งเน้นมุมมองทั้ง 2 ด้าน  ทั้งด้านดีและด้านเสีย
3. เตรียมวิธีการประเมินผล
4. เตรียมสถานที่จัดกิจกรรม โดยจัดหาสถานที่ที่เป็นห้องโล่งหรือลานกว้างพอสำหรับจัด
นักเรียนยืนเป็นวงกลม 2 วง และเคลื่อนไหวได้สะดวก
                5. เริ่มทำกิจกรรมโดยแจกใบกิจกรรมให้นักเรียนทุกคนศึกษา
                6. จัดกิจกรรมวงแหวนชาวประมงเพื่อให้นักเรียนสะท้อนข้อดีและข้อเสียของประเด็นที่ศึกษา โดยดำเนินการดังนี้
                     6.1 ครูชี้แจงขั้นตอนการทำกิจกรรม
                     6.2 ครูให้นักเรียนยืนเป็น 2 วง ให้เท่ากัน  วงละไม่ควรเกิน 10 คน และแต่ละคู่หันหน้าเข้าหากัน  ครูส่งสัญญาณให้นักเรียนผลัดเปลี่ยนคู่กันสะท้อนข้อดีและข้อเสีย  โดยการเปลี่ยนคู่อาจให้นักเรียนเดินสวนทางกันไปหาคู่ใหม่
                7. ร่วมกันอภิปรายทั้งชั้นเพื่อสรุปเป็นความคิดของห้อง

กลวิธี ทำนาย : สังเกต : อธิบาย ( Predict  Observe  Explain : P O E )
แนวคิด
                         กลวิธี ทำนาย : สังเกต : อธิบาย หรือ POE มาจากคำเต็ม Predict  Observe  Explain เป็นกลวิธีที่ให้นักเรียนเรียนรู้จากการทำนาย ( Predict ) การสังเกต ( Observe ) และการอธิบาย ( Explain ) ใช้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ  มุ่งมั่นในการทดลองโดยให้นักเรียนทำนายผลที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนลงมือทำกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนสังเกตอย่างจดจ่อ  ละเอียด รอบคอบ นำผลที่ได้จากการสังเกตมาอธิบายและเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำนายไว้  นักเรียนจะรู้สึกสนุกสนานและในช่วงที่ทำกิจกรรมหรือทำการทดลองแล้วท้าทายในการค้นหาความรู้เพื่อตรวจสอบผลการทำนายของตนเอง
          วิธีการ

                มี 3 ขั้นตอน คือ
                1. ขั้นทำนาย ( Predict ) ครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม / คนทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสาธิตการทดลองหรือปัญหาที่กำหนด
                2. ขั้นสังเกต ( Observe ) ครูให้นักเรียนทำการทดลอง สังเกต บันทึกผล เพื่อศึกษาว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และเป็นไปตามที่ทำนายไว้หรือไม่
                3. ขั้นอธิบาย ( Explain ) ให้นักเรียนอธิบายผลที่เกิดจริง ซึ่งผลเกิดขึ้นจริงอาจตรงกับที่ทำนายไว้ทั้งหมด หรือบางส่วน ครูให้นักเรียนวิเคราะห์หาสาเหตุ และสรุป

กลวิธี รู้แล้ว :อยากรู้ : เรียนรู้ ( Knowledge Want to know Learning : KWL )

แนวคิด
       กลวิธี รู้แล้ว :อยากรู้ : เรียนรู้ หรือ K W L  เป็นกลวิธีการเรียนรู้สิ่งใหม่จากการเชื่อมโยงจากสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้แล้ว หรือพื้นความรู้เดิมกับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และให้นักเรียนอธิบายความรู้ใหม่ หรือ สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้แต่ละตัวอักษรของ K W L  มาจากความหมายดังนี้
                    K: What  we know
               W: What we want to know
               L: What we learned
     กลวิธี K W L  ใช้เพื่อดึงความรู้เดิมของนักเรียนและสิ่งที่นักเรียนอยากรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียน จะทำให้รู้ว่านักเรียนรู้อะไรมาบ้างและมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอะไรบ้าง และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สนองความต้องการของนักเรียนมากที่สุด  ทั้งนี้เรื่องที่นักเรียนอยากรู้อาจจะจัดให้ไม่ได้ทันทีแต่อาจจัดการเรียนรู้โดยวิธีอื่นหลังจากนั้น

การนำไปใช้

1.    เมื่อเริ่มการเรียนการสอนเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ให้นักเรียนแต่ละคนเขียนในสิ่งที่เรียนรู้แล้วในเรื่องนั้นลงในกระดาษ  นำไปติดบริเวณที่กำหนด
2.    นักเรียนเขียนสิ่งที่อยากรู้ลงในกระดาษอีกแผ่น  ว่ามีอะไรบ้างที่อยากเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่ครูจะสอน แล้วนำไปติดบริเวณที่กำหนด
3.    ครูให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้และความต้องการของนักเรียน โดยครูต้องเชื่อมโยงกิจกรรมที่เตรียมไว้กับสิ่งที่นักเรียนอยากรู้มากที่สุด
4.    หลังจากจบบทเรียน ให้ทุกคนเขียนว่าได้เรียนรู้อะไรลงในกระดาษและตรวจสอบกับความรู้เดิมว่านักเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น รู้อะไรคลาดเคลื่อน มีอะไรที่ครูยังไม่จัดให้
5.    ครูให้นักเรียนทำกิจกรรมเพิ่มเติมในประเด็นที่นักเรียนยังไม่ได้เรียนรู้ เช่น สืบค้นข้อมูล ทำโครงงานวิทยาศาสตร์
กลวิธี  การจัดระบบความคิดโดยใช้แผนผัง  ( Graphic  Organizer )

แนวคิด
                กลวิธีการจัดระบบความคิดโดยใช้แผนผังหรือ Graphic  Organizer  ใช้เพื่อประเมินความเข้าใจ  ความถูกต้องของเนื้อหาสาระจากการเรียนรู้  ช่วยฝึกและเพื่อพัฒนากระบวนการคิด 
มีหลากหลายรูปแบบ เช่น แผนผังความคิดหลัก ( Concept map )  แผนผังเวนน์ ( Vann  diagram ) แผนผังก้างปลา  ( fish  bone ) และแผนผังความคิด ( Mind  map ) เป็นต้น  แต่ละรูปแบบของการจัดระบบความคิดจะมีลักษณะเฉพาะ  ดังตัวอย่าง เช่น
                                         
                                              แผนผังความคิดหลัก  ( Concept  Map )

                กลวิธี  แผนผังความคิดหลัก หรือ Concept  Map เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบความคิดหลักของนักเรียนก่อนเรียนหรือประเมินนักเรียนที่หลังจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว  นักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง  เข้าใจเนื้อหาถูกต้องหรือไม่  เป็นแผนภาพที่เขียนแสดงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดหลักหรือมโนทัศน์ ( Concept ) ต่าง ๆ โดยใช้คำเชื่อมอย่างมีลำดับและเป็นระบบเริ่มจากความคิดหลักที่กว้างไป  แคบไปหรือเฉพาะเจาะจงทำให้เห็นความสัมพันธ์ต่าง ๆ อย่างครอบคลุม  เข้าใจเนื้อหาดีขึ้น  ให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย  ถูกต้อง และครอบคลุม  เป็นการฝึกคิดวิเคราะห์  สังเคราะห์ และสร้างสรรค์
วิธีการ
1.             กำหนดเรื่องหรือหัวเรื่องที่จะจัดกิจกรรม
2.             ให้นักเรียนทำกิจกรรมก่อนเขียนแผนผังความคิดหลักหรือหลังจากทำกิจกรรม แต่ละ
กลุ่มระดมความคิด และสรุปผลกิจกรรมโดยเขียนแผนผังความคิดหลัก  ซึ่งครูควรทบทวนหรืออธิบายวิธีการเขียนแผนผังความคิดหลักก่อนให้นักเรียนเขียน
3.             แต่ละกลุ่มนำเสนอแผนผังความคิดหลัก
4.             ร่วมกันอภิปราย และสรุปแผนผังความคิดหลัก
แผนผังเวนน์ ( Venn  Diagram )
                เป็นกลวิธีที่ฝึกการคิดวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบของ 2 สิ่งหรือมากกว่าว่ามีอะไร  ที่เหมือนกัน และมีอะไรที่แตกต่างกัน  โดยเขียนลงในแผนผังเวนน์  ซึ่งประกอบด้วยวงกลมจำนวนเท่ากับสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบเขียนซ้อนทับกันบางส่วน ส่วนที่ซ้อนทับเขียนแสดงลักษณะที่เหมือนกัน บริเวณนอกเหนือส่วนที่ซ้อนกันอยู่เขียนแสดงลักษณะที่แตกต่างกัน
            วิธีการ
1.             ครูกำหนดเรื่อง / หัวข้อทำกิจกรรมที่สามารถแยกความแตกต่างออกจากกันได้
2.             ครูจัดทำใบความรู้หรือใบกิจกรรมหรือแหล่งเรียนรู้ในหัวข้อที่กำหนด เพื่อเป็นข้อมูล
สำหรับการเขียนแผนผังเวนน์
3.             นักเรียนแต่ละคนศึกษาหรือสืบค้นข้อมูล
4.             นักเรียนวิเคราะห์สิ่งที่เหมือนกันและสิ่งที่แตกต่างกันเขียนลงในแผนผังเวนน์
5.             ครูสุ่มนักเรียนนำเสนอแผนผังเวนน์
6.             ครูนำอภิปรายทั้งชั้นเรียนเพื่อสรุปแผนผังเวนน์ที่ถูกต้อง
หมายเหตุ : แผนผังเวนน์อาจแสดงแผนภาพด้วยวงกลมมากกว่า 2 วงซ้อนกันหรือวงกลม
เล็กซ้อนอยู่ในวงกลมใหญ่ก็ได้
                                                                  แผนผังความคิด ( Mind  map )
                คือการถ่ายทอดความคิด หรือข้อมูลต่าง ๆลงในกระดาษ โดยการใช้ภาพสี เส้น และการโยงใย แทนการจดย่อแบบเดิมที่เป็นบรรทัด ๆเรียงจากบนลงล่าง  ใช้แสดงการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างความคิดหลัก ความคิดรอง และความคิดย่อยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
กลวิธี ตั๋วออก(Exit Ticket)

แนวคิด
              กลวิธีตั๋วออกหรือ  Exit Ticket เป็นกลวิธีที่ให้นักเรียนทำกิจกรรมก่อนออกจากห้องเรียน  โดยหลังจากจบบทเรียนแต่ละครั้ง อาจให้นักเรียนทำงาน เช่น แบบฝึก รายงานการทดลอง  เขียนอนุทิน เพื่อบอกถึงสิ่งที่เข้าใจ และสิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้ ( Got ) และให้นักเรียนเขียนในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ ( ) ครูจะต้องนำงานของนักเรียนมาวิเคราะห์เพื่อทราบว่านักเรียนเข้าใจสิ่งที่ครูสอนแค่ไหน ยังไม่เข้าใจอะไร และอยากรู้อะไรเพิ่มเติม และให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียนในการเรียนการสอนครั้งต่อไป
วิธีการ
            กลวิธีนี้ใช้ตอนท้ายชั่วโมงของการสอนซึ่งจะช่วยประเมินผลการเรียนการสอนของครู  และฝึกให้นักเรียนสรุปความรู้ โดย ให้นักเรียนแต่ละคนเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจในบทเรียนวันนี้และเขียนสิ่งที่อยากรู้ลงในกระดาษ  มีอะไรบ้างที่อยากเรียน  โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้
1.    ให้นักเรียนเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้และเข้าใจในบทเรียน ซึ่งอาจเขียนได้ในหลายรูปแบบ เช่น อนุทิน  แผนผังความคิด  แผนภาพ  ความเรียงลงในบัตร หรือ กระดาษสี
2.    เขียนสิ่งที่อยากรู้ลงในกระดาษ มีอะไรบ้างที่อยากเรียนลงในบัตร หรือกระดาษสี
3.    นำสิ่งที่เขียนไปติดไว้ที่บอร์ด
กลวิธี เกม (Game)

แนวคิด
          เกมเป็นกลวีธีที่เหมาะสำหรับเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากทำให้นักเรียนได้รับความสนุกสนานและได้เรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย นอกจากนั้นไม่ว่านักเรียนจะเรียนเก่ง หรือเรียนอ่อนต่างก็ชอบการเล่นเกมด้วยกันทั้งสิ้น จึงช่วยแก้ปัญหาการขาดความเอาใจใส่ในการเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย
          เกมที่นำมาประยุกต์ในการเรียนการสอน  ควรเป็นเกมที่นักเรียนคุ้นเคย รู้กติกาค่อนข้างดี  วิธีการเล่นไม่ซับซ้อน และผลิตง่าย เกมมีหลายประเภท เช่น   
1.    โดมิโน ( Dominoes)
2.    เกมบัตร( Card Game)
3.    เกมกระดาน ( Board Game)
4.    เกมปริศนาคำ (Puzzles)
5.    เกมทายปัญหา (Quizzes)

โดมิโน

         เป็นเกมที่เล่นโดยนำชิ้นส่วนสี่เหลี่ยมซึ่งเรียกว่าแผ่นโดมิโนมาต่อเข้าคู่กันตามกติกาที่กำหนดเช่นประเภทของสัตว์ ชื่อสัตว์  อาณาจักรพืช ชื่อพืช  จำนวนตัวเลขที่บวกกันแล้วเท่ากับสิบเป็นต้น  เกมโดมิโนเหมาะสำหรับการจัดจำแนกประเภท ที่เกี่ยวข้องกันไม่เกิน 3  กลุ่ม เช่นประเภทธาตุ สัญลักษณ์ธาตุ ชื่อธาตุ เมื่อต่อแผ่นโดมิโนได้ถูกต้อง ผู้เล่นจะได้คะแนนเท่ากับจำนวนจุดที่อยู่บนแผ่นโดมิโน ครูสามารถกำหนดกติกา การคิดคะแนน เช่น ถ้าแผ่นโดมิโนที่ต่อกันถูกต้องและมีจำนวนจุดของคะแนนเท่ากัน ผู้เล่นจะได้คะแนน 2 หรือ 3 เท่า ของผลรวมของจำนวนจุด

เกมบัตร

        เป็นเกมที่เล่นโดยใช้บัตร อาจเป็นการจับคู่บัตร หรือจัดบัตรเข้าพวก ตามกติกาที่กำหนด บางเกมอาจใช้กติกาของการเล่นรัมมี่ หรือการเล่น ผสมสิบ  เกมบัตรเหมาะสำหรับการจัดกลุ่ม   จัดประเภทของสิ่งที่แสดงบนบัตร

เกมกระดาน

        เป็นเกมที่ผู้เล่นเดินตัวหมากไปตามช่องบนกระดาน จำนวนช่องที่เดินเท่ากับจำนวนเต็มที่ได้จากการทอดลูกเต๋า เช่นเกมบันได้งู เกมเศรษฐี เกมไต่บันได ในช่องที่เดินควรใส่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ผู้ที่เดินไปถึงช่องนั้นอ่านให้เพื่อฟัง หรือใส่สิ่งที่ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติ เช่นให้หยิบบัตรคำถาม ถ้าตอบคำถามได้จึงจะได้เล่นต่อไปเป็นต้น

เกมปริศนาคำ

         เป็นเกมที่ทายคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ มีหลายลักษณะเช่นเกมอักษรไขว้( Crossword )
อักษรสลับ ( Anagrams )  เกมค้นหาคำ ( Wordsearches ) เหมาะสำหรับใช้เรียนรู้ หรือทบทวนความหมาย หรือ มโนทัศน์ของคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์

เกมทายปัญหา

       เป็นเกมที่ใช้ทายปัญหาทางวิทยาศาสตร์ รูปแบบของเกมมีหลายแบบ อาจใช้รูปแบบของเกมทางทีวีซึ่งเป็นที่นิยม แล้วใช้คำถามที่เกี่ยวข้องเนื้อหาสาระทางวิทยาศาสตร์ เช่นเกม 20คำถาม

       เกมเหล่านี้ครูสามารถผลิตเองได้ง่าย โดยใช้วัสดุประเภท กระดาษ ดินสอสี ปากกาสี  หรือออกแบบในคอมพิวเตอร์และพิมพ์ออกมาให้มีสีสันสวยงาม ก็จะทำให้เกมมีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจ 
แต่ถ้าโรงเรียนมีความพร้อมทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็สามารถใช้เกมคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจผลิตขึ้นเอง หรืออาจจัดซื้อจากที่มีผู้จำหน่ายมาใช้ในการเรียนการสอน

กลวิธี  เดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
( Gallery  Walk )
แนวคิด
                กลวิธีเดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ Gallery  Walk เป็นกลวิธีที่ให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานของกลุ่มในการศึกษาเรื่องเดียวกัน  ภายหลังจบบทเรียน  ให้กลุ่มอื่นมาชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงาน แสดงความคิดเห็น อภิปรายภายในกลุ่ม โดยเขียนเครื่องหมาย / หน้าข้อความที่มีความเห็นเหมือนกัน และเขียนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  ถ้าไม่แน่ใจในประเด็นที่เพื่อนนำเสนอให้ใส่เครื่องหมายคำถามไว้  กลวิธีนี้ใช้เมื่อต้องการให้นักเรียนนำเสนอผลงาน  โดยทุกคนมีส่วนร่วม  กลวิธีนี้ช่วยฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์  การตั้งคำถาม  การตอบคำถาม  การสื่อสารและการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

วิธีการ
1.             แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 4 คน
2.             ให้นักเรียนร่วมกันทำกิจกรรม  อภิปราย และสรุปความคิดเห็นของกลุ่ม  เขียนลงใน
กระดาษโปสเตอร์แล้วนำไปติดไว้ที่ผนัง  ระยะห่างกันพอสมควร
3.             แจกปากกาสีให้แต่ละกลุ่มอธิบายวิธีการเดินชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานของกลุ่มอื่น
4.             ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มยืนตรงโปสเตอร์ของตนเอง
5.             ให้สัญญาณให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเดินไปหยุดที่โปสเตอร์ของกลุ่มถัดไป  ศึกษาผลงาน
อภิปราย และสรุปความคิดเห็น  ถ้าเห็นด้วยในประเด็นใดให้เขียนเครื่องหมาย / หน้าประเด็นนั้น ถ้าไม่เห็นด้วยในประเด็นใดให้เขียนความคิดเห็นของตนเองลงไป  ถ้าไม่แน่ใจในประเด็นใดให้เขียนเครื่องหมายคำถาม
6.             ให้นักเรียนทำกิจกรรมเช่นเดิมจนครบทุกโปสเตอร์ หรือ 2 3 โปสเตอร์ตามเวลาที่มี
7.             นำอภิปรายทั้งชั้น โดยครู เพื่อสรุปความคิดเห็นของห้อง


รวมลิงค์บทความเกี่ยวกับเทคนิคการสอน